อะไรก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่สุดแล้ว ย่อมดึงดูดความน่าสนใจอยู่เสมอ และก็เช่นกันที่คราวนี้ผมถ่อตัวเองจากตัวเมืองเชียงใหม่ มายังวัดพระพุทธบาทสี่รอย เพื่อมาสักการะรอยพระพุทธบาทสี่รอย ที่ถือว่าเป็นพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
วัดพระพุทธบาทสี่รอย จะตั้งอยู่ ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท แห่งองค์สมเด็จพระโลกนาถ สัมมาสัมพุทธเจ้าถึง 4 พระองค์
จากตำนานวัดพระพุทธบาทสี่รอยเล่าว่า เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบันนี้ได้เสด็จจาริกประกาศธรรม และโปรดเวไนยสัตว์มายังปัจจันตประเทศ ( ประเทศไทยปัจจุบัน ) จนกระทั่งมาถึงเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศชื่อ เขาเวภารบรรพตซึ่งขณะนั้นได้เสด็จพร้อมกับพุทธสาวก 500 องค์และได้ แวะฉันจังหันอยู่บนเขาเวภารบรรพตแห่งนี้ เมื่อพระพุทธองค์ฉันจังหันเสร็จขณะประทับอยู่ที่นั้นก็ได้ทราบด้วยญาณ สมาบัติว่าบนเทือกเขาแห่งนี้ได้มีรอย พระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่บนก้อนหินใหญ่ คือ พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ภัทรกัลป์นี้แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระ พุทธบาทแห่งพระ พุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ อันมีในที่นี้พุทธสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นประธาน เมื่อเห็นเช่นนี้จึงทูลถามว่าพระพุทธองค์ทรงเล็งดูด้วยเหตุใด พระพุทธองค์ตอบว่า ดูก่อนท่านทั้งหลายสถานที่แห่งนี้ แม้นว่าพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ที่ ล่วงมาแล้วในอดีตกาล ก็มาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ทุกๆ พระองค์ และแม้นว่าพระศรีอาริยเมตไตร ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ และ จักรประทับรอยพระบาทสี่รอยนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ( คือ ประทับลบทั้งสี่รอยให้เหลือรอยเดียว ) เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแก่สาวกทั้งหลายเสร็จแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ จึงมีรอยพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ จึงกําเนิดเป็นพระพุทธบาทสี่รอย
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาท ของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์นั้นแล้วก็ทรงอธิฐานว่า ในเมื่อกูตถาคตนิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็จักนําเอาพระธาตุของกูตถาคมมาบรรจุไว้ที่รอยพระบาทที่นี่ ในเมื่อกูตถาคตนิพพานไปแล้ว 2,000 ปี พระพุทธบาทสี่รอยนี้ก็จักปรากฏแก่ปวงคนและเทวดาทั้งหลาย ก็จักได้มาไหว้และบูชา เมื่อทรงอธิฐานและทํานายไว้ดังนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไป เชตวันอารามอันมีในเมืองสาวัตถีวันนั้นแล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงนิพพานไปแล้ว เทวดาทั้งหลายก็นําเอาพระธาตุของพระพุทธองค์มาบรรจุไว้ที่พระพุทธบาทสี่รอยเมื่อพระพุทธองค์นิพพานล่วงแล้วประมาณ 2,000 วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการอยากให้พระพุทธบาทสี่รอยปรากฏแก่คนทั้งหลายตามที่พระ พุทธองค์ทรงอธิฐานไว้ก็จึงเนรมิตเป็นรุ้งตัวใหญ่ ( เหยี่ยว ) ก็บินลงจากภูเขาเวภารบรรพตอันเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธบาทสี่รอยในปัจจุบันนี้ เพื่อบินลงไป เอาลูกไก่ชาวบ้าน ( คนป่า )ที่อยู่ตีนเขาเวภารบรรพต แล้วก็บินกลับขึ้นไปอยู่ยอดเขา มันก็โกรธมากจึงตามขึ้นไปคิดว่าจะยิงเสียให้ตาย มันก็ติดตามไป ค้นหาดูแต่ก็ไม่เห็นรุ้งตัวนั้นอีก แต่เห็นรอยพระพุทธบาทสี่รอยอันอยู่พื้นต้นไม้และเถาวัลย์ พรานป่าผู้นั้นก็ทําการสักการะบูชา เสร็จแล้วก็ลงจากภูเขา พอมาถึงหมู่บ้านก็เล่าบอกแก่ชาวบ้านทั้งหลายฟังความอันนั้นก็ปรากฏสืบๆ กันไปแรกแต่นั้น ไปคนทั้งหลายที่ทราบก็พากันไปสักการะบูชามาก แต่นั้นมา จึงได้ชื่อว่า พระบาทรังรุ้ง ( รังเหยี่ยว )
ในสมัยนั้นมีพระยาตนหนึ่งชื่อว่าพระยาเม็งราย เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงมีพระราช ศรัทธาอยากเสด็จขึ้นไปกราบบูชาพระพุทธบาทสี่รอยก็นําเอาราชเทวีและเสนาพร้อม กับบริวารทั้งหลาย เมื่อพระยาเม็งรายกราบนมัสการเสร็จแล้ว ก็นําเอาบริวารของตนกลับมาสู้ เมืองเชียงใหม่ ก็ตั้งอยู่เสวยราชมบัติตราบเมี้ยนอายุขัยแล้ว ก็เจริญตามรอยและได้ขึ้นมากราบพระพุทธบาททั้งสี่รอย ทุกๆพระองค์ หลังจากนั้นมาพระบาทรังรุ้งหรือรังเหยี่ยวก็เปลี่ยนชื่อเป็น” พระพุทธบาทสี่รอย ” เพราะมีรอยพระพุทธบาทประทับซ้อนกันถึงสี่รอย คือมีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงลับมาแล้วในภัทรกัลป์นี้
สำหรับรอยพระพุทธบาทสี่รอยนั้น จะประกอบด้วย รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอยใหญ่ยาว 12 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่สอง ยาว 9 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นรอยที่สาม ยาว 7 ศอก และรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตะมะ เป็นรอยที่สี่ รอยเล็กที่สุด ยาว 4 ศอก
นอกจากพระพุทธบาทสี่รอยแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในวัดก็ยังมีวิหารหลวง ที่ประดับประดาไปด้วยแก้วสีทองอร่ามไปทั่ววิหาร และบริเวณด้านข้างพระอุโบสถ มีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูป ทั้งหมด 28 องค์ แต่ละองค์จะมีจารึกชื่อของพระพุทธรูป และชื่อบุคคลผู้ถวายศรัทธาในการสร้างด้วย