วัดพวกช้าง อีกวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งอันสำคัญ และน่าเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “พวก”
วัดแห่งนี้สร้างในสมัยราชวงศ์มังราย ตั้งอยู่ใกล้แจ่งกะต๊ำ เป็นวัดขนาดเล็ก โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางวัดได้รับการทำนุบำรุงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย ลากยาวเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
พอก้าวเท้าเข้าไปข้างในวัด ก็มีศาสนสถานหลายอย่างด้วยกันให้เยี่ยมชม ขวามือน่าจะเป็นศาลาบาตรในรูปแบบศิลปะล้านนาประยุกต์ (ไม่แน่ใจนะครับว่าใช่ศาลาบาตรมั้ย หรือเรียกว่าอะไรกันแน่) ในนั้นจะประดิษฐานพระเจ้าทันใจ และลึกลงไป จะเป็นในศาลาบาตรจะประดิษฐานพระพิฆเนศ ติดกันกับศาลาบาตร จะเป็นซุ้มจระนำมหามงคลวัดพวกช้าง
ฟากฝั่งซ้ายมือ เป็นหอระฆังวัด พอแหงนมองไปด้านหน้า ก็จะเจอพระวิหาร (ถึงไม่แหงนก็เจออยู่ดี) ด้านหลังเป็น องค์เจดีย์ มีหอไตรแบบโบราณ และหอเสื้อเจ้าปู่ขาวหลบมุมกันอยู่
ดูๆ ไปแล้ว วัดแห่งนี้ก็มีสถาปัตยกรรมสวยงามดี ไม่ต่างจากหลายๆ วัด ในเชียงใหม่ทั่วไป แต่ที่เอะใจตอนมาค้นข้อมูล คือการเจอรูปภาพ การปรับปรุงตัวอาคารกุฏิหลังเดิม เพื่อใช้เป็นที่พักอาคันตุกะ
มันคงไม่มีอะไรหรอกครับ ถ้าในภาพมันเป็นห้องพักธรรมดาทั่วๆ ไป แต่นี้ที่ผมเห็น ผมนึกว่าห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาว!
ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้น รวมทั้งการตกแต่ง มันบ่งบอกถึงมูลค่าในการสร้างอย่างดีเลยว่า งานนี้หมดเงินไปไม่น้อยแน่ๆ
เครดิตภาพจาก http://www.lannatalkkhongdee.com/templeDetail.php?id=Temp0800021
จุดประสงค์ของการสร้างทางวัดบอกว่า จะใช้ห้องพักรับรองแห่งนี้ ถวายการต้อนรับพระมหาเถรานุเถระ ในการมาตรวจเยี่ยมหรือเยี่ยมชมวัดต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และอีกอย่างก็เพื่อเป็นการสนองงานของคณะสงฆ์ในจังหวัดด้วย
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ถูกผลักดันโดยการนำของท่านพระครูธรรมรุ่งโรจน์ ฐานวีโร เจ้าอาวาสวัดพวกช้าง ซึ่งทุนทรัพย์ที่ใช้ในการปรับปรุงครั้งนี้ ได้รับความเมตตาจาก ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดอมรคีรี กรุงเทพฯ ได้ เมตตาเป็นองค์ประธานในการจัดตกแต่ง และปรับภูมิทัศน์ในครั้งนี้
เครดิตภาพจาก http://www.lannatalkkhongdee.com/templeDetail.php?id=Temp0800021
สำหรับที่พักอาคันตุกะของวัดพวกช้างนั้น เน้นในรูปแบบ ศิลปะแบบล้านนา ไม่ว่าจะเป็นการจัดตกแต่งภายนอกหรือภายใน การจัดวางข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ หรือการจัดประดับตกแต่งด้วยภาพวาด ก็จะเน้นในรูปแบบศิลปะของล้านนาทั้งสิ้น ทั้งนี้ท่านพระครูธรรมธรรุ่งโรจน์ ฐานวีโร กล่าวว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะรูปแบบของล้านนาเอาไว้ และยังเป็นการเผยแพร่งานด้านศิลปะเหล่านี้ให้กับแขกผู้มาพัก ได้เห็นความงดงามและเห็นคุณค่าของศิลปะล้านนาด้วย
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ถามว่ามันจำเป็นมั้ย กับการทุ่มทุนสร้างขนาดนี้ เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยบางอย่างเพียงเล็กน้อย พูดตรงๆ ก็คงต้องบอกว่า “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” รึเปล่า?
ในเมื่อสถานที่หลายสิ่งหลายอย่างในวัด ก็บ่งบอกความเป็นล้านนามากพออยู่แล้ว ฉะนั้น การเนรมิตตัวอาคารกุฏิหลังเดิมให้เป็นห้องพักในระดับหรู ในฐานะชาวพุทธอย่างผมจึงเห็นว่า “ไม่สมควร” เพราะถือว่าสิ้นเปลืองกำลังทรัพย์โดยใช่เหตุ สู้เอาเงินไปพัฒนาอย่างอื่น จะไม่ดีกว่าเหรอ?
ถ้าพระภิกษุ คือผู้ที่ละแล้วซึ่งทางโลก การใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย คือสิ่งที่พึงกระทำ….