ถัดจากวัดกู่ขาวเข้ามา เลี้ยวซ้ายไปตามซอยและป้ายบอกทาง ท่านก็จะเจอวัดกุมกามทีปราม อยู่ฝั่งซ้ายมือ กรุณาสังเกตกันให้ดีๆ มิเช่นนั้นมันจะเลยป้าย
อนึ่ง มาเที่ยวเวียงกุมกาม สิ่งที่ต้องพึงกระทำ หากมารถส่วนตัวจะมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ คือกรุณาขับช้าๆ และต้องช่างสังเกต หูไวตาไวเรื่องป้ายบอกวัดด้วย ประเดี๋ยวจะพากันหาไม่เจอ หรือหลงเส้นทางง่ายๆ เอา เป็นไปได้ดีสุด ก็พกแผนที่ไปด้วย
คงไม่ต้องบอกนะว่าหามาจากไหน ในอินเตอร์เน็ตมีเยอะแยะ เสิร์ชหาไปเถอะ เทคโนโลยีมีก็รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์กัน ไม่ใช่เล่นแต่เฟซบุ๊คอย่างเดียว
วัดกุมกามทีปราม จะตั้งอยู่ในบ้านเสาหิน ตำบลหนองผึ้ง อ.สารภี ตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ ในเขตเวียงกุมกามด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเขตพื้นที่ดินสวนลำไยของเอกชน สามารถเดินทางเข้าถึงโดยใช้เส้นทางใหม่ ที่สร้างเวียงกุมกามทางด้านตะวันออก โดยเริ่มจากวัดกู่ขาว (อย่างที่ผมได้เกริ่นไป) ตรงเส้นถนนต้นยางเชียงใหม่ – ลำพูน
ตามประวัติวัดกุมกามทีปรามบอกกล่าวเอาไว้ ในสมัยล้านนามีกษัตริย์ได้เข้ามาทำบุญรับศีลและฟังเทศนาธรรมที่วัดแห่งนี้ ซึ่งชื่อของวัดนี้ยังวิเคราะห์ได้ไม่ชัดเจนว่าเป็นวัดเดียวกันกับวัดที่กล่าวถึงในเอกสารหรือไม่ แต่จากรูปแบบผังการก่อสร้างและลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมต่างๆ ของวัด อนุมานได้ว่าวัดกุมกามทีปรามแห่งนี้เป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเวียงกุมกาม จึงเรียกชื่อโบราณสถานตามชื่อเวียงกุมกาม อันหมายถึงอารามของเวียงกุมกาม โดยวัดกุมกามทีปรามน่าจะสร้างขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เพราะมีลักษณะที่แสดงถึงกานผสมผสานกันทางวัฒนธรรม ภายหลังที่พญามังรายมีอำนาจเหนือหริภุญไชยแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว
วัดกุมกามทีปราม อยู่ลึกจากผิวดินปัจจุบันประมาณ 0.50 เมตร ประกอบด้วยเจดีย์และวิหาร ซึ่งเจดีย์ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม อิทธิพลศิลปกรรมละโว้ และได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แปดเหลี่ยมที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
ในส่วนของวิหารใหญ่ วัดกุมกามทีปราม เหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐานตอนล่างที่สร้างก่ออิฐยกพื้นขึ้นมาไม่สูงมาก วิหารใหญ่ มีลักษณะเป็นวิหาร-โถง มีบันได 3 ด้าน ซึ่งบันไดทางขึ้น/ลงหลัก ด้านหน้าวิหารใหญ่ มีลักษณะตัวบันไดเป็นปูนปั้นรูปตัวมกรคายพญานาค 5 เศียร อันมีรูปแบบคล้ายกับตัวบันไดของพระเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ รวมไปถึงวัดสวนดอก และบันไดขึ้นลานปทักษิณเจดีย์วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม ในเขตเมืองเชียงใหม่ อันพิจารณาว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยใกล้เคียงกัน คือตั้งแต่ระยะสมัยพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
และขอส่งท้ายกันแบบดื้อๆ ด้วยบันไดเล็กทางขึ้น/ลง ด้านข้างทิศตะวันออกตอนหลัง เป็นบันไดส่วนของย่อเก็จลดอีกแห่งหนึ่ง อันน่าจะเป็น บันไดสำหรับพระสงฆ์ไว้ขึ้น/ลงวิหารใหญ่โดยเฉพาะ