วัดศรีโพธาราม

DSCF4390

จากการไปเที่ยววัดในอำเภอสารภีหลายๆ ที่ พบว่าหลายวัดอยู่ในช่วงบูรณปฏิสังขรณ์ส่วนที่ชำรุดให้กลับมาดูดียิ่งขึ้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องดีที่เราได้ทำนุบำรุงศาสนาให้คงอยู่ไว้ ทั้งในแบบรูปธรรมและนามธรรม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะบำรุงรักษา ก็ต้องดูด้วยว่าอันไหนควรไม่ควร

ที่ต้องบอกกันแบบนี้ เพราะมีวัดแห่งนึงในจังหวัดลำพูน ซึ่งหลังจากที่ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งมาบูรณะก็ทำการจัดการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไป รวมทั้งต่อเติมบางส่วนให้มันดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มันควรจะกลายเป็นเรื่องดีๆ แต่มันกลับไม่ เมื่อหลายสิ่งหลายอย่างถูกศิลปะแบบอื่นยัดลงไป หาใช่ท้องถิ่นแบบเดิม

งานนี้จากที่จะโดนชมก็เลยกลายเป็นถูกด่าจนเสียน้องหมาไปกันอีกนาน แถมชาวบ้านก็รับไม่ค่อยจะได้เสียด้วย

มากันที่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องที่ไปแขวะเขา วัดที่ผมจะพามาทำความรู้จักนี้ ชื่อวัดศรีโพธาราม

DSCF4386

วัดศรีโพธาราม ตามประวัติเล่าขานบอกว่า เดิมชื่อวัดสังก๋า และวัดศรีก่อเก๊า ประมาณปี พ.ศ.2202 ได้มีภิกษุรูปหนึ่งจากวัดที่วัดพญาชมภู ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อว่าพระภิกษุอินจันทร์ ท่านเดินธุดงและได้ปักกลด ณ บริเวณนี้และเกิดนิมิตรเห็นแสงสว่างเจิดจ้าสุกใส โชติช่วงสีเขียวเป็นประกายเจิดจ้า จากลูกแก้วดวงหนึ่งประมาณเท่าลูกส้มโอ ลอยวนเวียนอยู่ทางทิศตะวันตก พอท่านออกจากนิมิตรท่านก็เดินไปยังที่เห็นแสงสว่างนั้น ก็เห็นมีวิหารสภาพชำรุดทรุดโทรม มีซากสลักหักพังเกลื่อนกลาดไปทั่วบริเวณนั้น แสดงให้เห็นว่าสถานที่นี้เป็นวัดที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน และห่างออกไปทางทิศตะวันตกของเจดีย์ประมาณ 20 เมตร มีต้นโพธิ์ต้นใหญ่ต้นหนึ่ง

DSCF4398

DSCF4390

DSCF4391

หลังจากนั้นพระอินจันทร์ และญาติโยมต่างช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ จนการบูรณะปฏิสังขรณ์สำเร็จเรียบร้อย ชาวบ้านญาติโยมที่ร่วมกันบูรณะก็พร้อมใจกันอาราธนานิมนต์พระอินจันทร์มาจำวัดอยู่ ณ วัดนี้ และได้เป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา จึงได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดสังก๋า โดยตั้งชื่อตามนิมิตรจากเจดีย์สององค์ด้านหน้าและหลังวิหาร เพราะมีความสงสัยว่าเจดีย์องค์ไหนเป็นเจดีย์จริงกันแน่ (ปัจจุบันนี้เจดีย์ด้านหน้าวิหารไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะผุผังไปตามกาลเวลา)

DSCF4397

DSCF4393

ในเวลาต่อมาก็มีญาติโยมจากที่อื่นเข้ามาจับจองเป็นที่อยู่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้าน และในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดศรีก่อเก๊า โดยถือเอาต้นโพธ์ใหญ่เป็นมงคลนาม เพราะต้นโพธิ์ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ไม้ศรี (อ่านว่าสะหรี) หมายความว่าต้นโพธ์ต้นแรกชื่อวัดศรีก่อเก๊า ที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ชาวบ้านไม่นิยมเรียก จนเลือนหายไปโดยปริยาย จึงเรียก “วัดศรีโพธาราม”