เคยรู้สึกนึกอยากทราบที่มาของชื่อตำบล หรือหมู่บ้านตัวเองมั้ยครับ ว่ามันมีที่มากันแบบไหนอย่างไร
เรื่องนี้คิดเอาเองแต่เด็กว่า ถ้าถาม-ตอบแบบคนทั่วไป คงไม่มีใครใคร่อยากรู้หรอก ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
อย่างผมสมัยมัธยมต้น โดนอาจารย์วิชาสังคมศึกษาไล่ให้ไปหาประวัติหมู่บ้านตัวเองมา นาทีนั้นผมนึกในใจว่านี่เราต้องไปขุดมากจากที่ไหน หรือไปถามใคร ยิ่งสมัยนั้นเทคโนโลยีเรื่องอินเตอร์เน็ตยังไม่ก้าวไกลมาก ไอ้ครั้นจะให้ไปค้นหาผ่านเว็บไซต์ ก็ยังกระไรๆ อยู่ หรือถ้าไปค้น ก็คงไม่มีข้อมูลให้เห็น
แต่โชคดี ที่ยังมีเพื่อนช่วยไว้ เมื่อมันพาผมไปถามเอากับผู้ใหญ่บ้าน สรุป งานนั้นเลยพากันรอดตัวอย่างหวุดหวิด แถมยังได้รู้จักที่มา และชื่อของหมู่บ้านตัวเอง
หลังจากสะเออะเกริ่นเรื่องตัวเองมาพอสมควร จริงๆ แล้วผมก็จะพาวกมาเข้าเรื่องที่จะเล่าของวัดหนองควาย เนื่องจากมันมีความเกี่ยวโยงกันกับชื่อของตำบล
เรื่องมีอยู่ว่า (จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน) ในอดีตมีควายตัวหนึ่ง ลักษณะตัวเป็นสีทอง ชาวบ้านเรียกว่า “ควายคำ” หรือ “ควายทองคำ” ซึ่งอาศัยอยู่ที่ดอยคำ (วัดดอยคำในปัจจุบัน) ชอบมาลงเล่นน้ำในหนองน้ำในคืนวันเพ็ญเป็นประจำ จนทำให้บริเวณนี้เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นพระวิหารของวัดโพธิพิชิต (วัดหนองควาย) ชาวบ้านได้เรียกหนองน้ำนี้ว่า “หนองควายคำ” และใช้เป็นชื่อหมู่บ้าน ต่อมาชาวบ้านได้เรียกชื่อหมู่บ้านเหลือเพียง “หนองควาย” ซึ่งเป็นชื่อตำบลหนองควายในปัจจุบัน
ในส่วนเรื่องราวของวัดนั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พระอุโบสถหลังเก่า ที่ยังคงลักษณะแบบชาวบ้านล้านนา สไตล์เรียบง่ายเคร่งขรึม ขนาดอาคารพอเหมาะกับการใช้ ซึ่งบรรยากาศแบบนี้จะเป็นคล้ายๆ กันทุกวัดในภาคเหนือ ซึ่งหลายที่ชาวบ้านก็ได้มีการหวงแหนอาคารโบราณเหล่านี้ไว้ ถึงขั้นเคยรวมตัวกันต่อต้านไม่ให้ทางราชการ กรมศิลปากรเข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ เพราะเกรงว่าจะถูกกีดกันและหวงห้ามไม่ให้เข้ามาใช้และดูแลวัด
ทั้งนี้ ไอ้เรื่องบูรณปฏิสังขรณ์ ถ้าจะทำกันจริงๆ ผมว่าก็ต้องปรึกษากันทุกฝ่ายแหละครับเพื่อหาทางออกที่ดี โดยที่ยังคงไว้ซึ่งศิลปะแบบเดิม และความคงทนถาวรในอนาคต เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังๆ ได้ชมได้เห็นกันว่าสมัยก่อน พระอุโบสถเก่าล้านนามีหน้าตาเป็นแบบไหนยังไง
แต่จะทำอะไรยังไง ก็ขอให้รีบๆ ทำหน่อยก็แล้วกัน เพราะของบางอย่างปล่อยทิ้งไว้มันก็ยิ่งผุพัง ป่วยการลำบากจะซ่อมแซมอีก สุดท้ายจากที่จะดีขึ้น ก็กลับกลายเป็นแย่ลงกว่าเดิม
กรณีถ้าทำเร็วๆ คงทน แต่ไม่คงศิลปะไว้ อันนี้ก็แย่เหมือนๆ กันครับ