การมาเที่ยววัดที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง แถวอยู่ในต่างอำเภอ นอกจากการหยิบเทคโนโลยีมาใช้ในการนำทางเพื่อไปถึงจุดหมายแล้ว ทักษะการสังเกตก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่พึงต้องมี
ที่ต้องบอกกันแบบนี้ เนื่องจากหลายๆ ที่ที่ผมไป บางทีไอ้แผนที่นำทางจากในโทรศัพท์ ก็ไม่ได้เป๊ะอย่างที่เราหวัง เพราะมีใครบางคนไปปักหมุดแผนที่ในกูเกิ้ลผิด
ถามว่าปักผิดกันในระดับไหน ก็ต้องบอกว่าผิดแบบอยู่คนละซอย แถมอยู่คนละฝั่งของถนน ชนิดคนอย่างผมตอนหาวัดเจอได้แต่อุทานออกมาว่า “งามไส้มั้ยล่ะพ่อคุณทูนหัว”
คือถ้าไม่สังเกตดีๆ หรือถามทางชาวบ้าน มีหวังงานนี้ กว่าจะหากันเจอคงเสียเวลาไปมากกันพอสมควร
ที่สำคัญ ไอ้ผมมันก็เป็นคนซีเรียสกับการใช้เวลาให้คุ้มค่าซะด้วย
หลังหลงทางหน่อยๆ กว่าจะหากันเจอ สุดท้ายผมก็พาตัวเองมายังวัดสว่างบรรเทิงได้สำเร็จ ใน อ.แม่ริม
จากประวัติความเป็นมา เดิมประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านแม่สาน้อย มีจำนวนน้อยและนับถือพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน เมื่อถึงเทศกาลทำบุญและพิธีกรรมต่าง ๆ ก็พากันไปร่วมกับวัดอื่นที่ตนศรัทธา พอถึงช่วงฤดูฝนกลางพรรษาการเดินทางไปวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต่อมาประชาชนในหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดสร้างวัดตรงบริเวณบนเนินเล็ก ๆ มีต้นไม้ขึ้นโดยรอบ และอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านให้ชื่อว่า วัดแม่สาน้อย เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจและเป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ
จากนั้นต่อมาได้ขึ้นทะเบียนวัดแม่สาน้อย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2385 (ทะเบียนวัด ภาค 7) จากนั้นท่านครูบาเจ้าคำปัน ปญฺญาสาโร (เจ้าคณะตำบลท่าไคร้) เป็นเจ้าอาวาสและได้รับการอุปถัมภ์จากคณะศรัทธาในหมู่บ้าน นำโดยพ่อขุนบรรเทิง (กำนันตำบลท่าไคร้) ได้พัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุ กุฎิ วิหาร ศาลา เป็นต้น มีความเจริญขึ้นตามลำดับ
จนประมาณ พ.ศ. 2484 ทางรัฐบาลต้องการให้วัดและสถานที่ต่างๆ เปลี่ยนชื่อใหม่ตามสมัยรัฐนิยม ทางท่านพระครูอุดมวุฑฒิคุณ (เจ้าคณะอำเภอแม่ริม) ได้ตั้งชื่อวัดให้ใหม่ว่าวัดสว่างบรรเทิง โดยเอาชื่อฉายาของท่านครูบาเจ้าคำปัน คือ ปญฺญาสาโร แปลว่า ผู้มีปัญญาเป็นสาระปัญญานี้ย่อมทำลายความมืดบอดของจิตใจให้เกิดความสว่างไสว (สว่าง) นำมาสมาสกับนามของกำนัน คือพ่อขุนบรรเทิง จึงได้เปลี่ยนชื่อ วัดแม่สาน้อย เป็น วัดสว่างบรรเทิง และเปลี่ยนชื่อตำบลท่าไคร้ เป็น ตำบลแม่สา ใช้มาถึงปัจจุบันนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในลำดับเลขที่ 19 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 67 ตอนที่ 44 ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2493)