เล่าเรื่องเมืองก๊ะ ของชาวลัวะ

DSCF6962

ในดินแดนที่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ไม่เท่าไหร่ในป่าเขา เป็นที่ตั้งของชุมชนหนึ่งที่น่าสนใจ ในฐานะชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยชนเผ่าที่ว่านั้น คือ ลัวะ ที่บ้านเมืองก๊ะ ใน ต.สะลวง อ.แม่ริม

ประวัติบ้านเมืองก๊ะ เมื่อ 1,300 ปีที่แล้ว เล่าว่า หลังจากพ่อขุนหลวงวิลังคะพ่ายแพ้จึงไม่อยากพบหน้าใครอีก จึงหนีเข้าป่า โดยมีหมู่ชาวลัวะบางส่วนติดตามมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านลัวะก๊ะ และได้สร้างเมืองเล็กๆ ทำมาหากินตามประสาคนป่า และต่างนับถือกันประดุจญาติพี่น้อง จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “เมืองก๊ะ” ซึ่งเป็นที่มาจากชื่อของขุนหลวงบะลังก๊ะนั่นเอง

DSCF6955

จากนิทานโบราณของชาวลัวะ เล่าว่าชาวลัวะบ้านเมืองก๊ะ เรียกตนเองว่า “พะล็อก” เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในล้านนา แต่คนภายนอกเรียกว่า “ลัวะ” โดยในสมัยก่อนนั้นเล่าว่า ชาวลัวะมีตัวหนังสือใช้ แต่เขียนลงบนหนังสัตว์ สุนัขได้คาบไปกิน ทำให้ชาวลัวะไม่มีตัวหนังสือใช้จนถึงทุกวันนี้

DSCF6964

ในเขตบ้านเมืองก๊ะ ได้พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยบนดอยพบเนินฝังศพรูปวงกลม หรือวงตีไก่ ชาวบ้านเรียกว่า หลุมฝังศพลัวะ มีอายุประมาณ 500-600 ปีมาแล้ว ไม่ต่างกันมากพบร่องรอยการขุดยอดเขาเป็นรูปวงกลม ชาวบ้านเรียกดอยหินแมน ซึ่งคงเป็นป้อมป้องกันข้าศึกในสมัยก่อน ส่วนในเขตบ้านเมืองก๊ะ ได้พบหลักฐานประเภทอิฐโบราณสถานสมัยล้านนา เศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง เศษภาชนะดินเผา จากแหล่งเตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย แหล่งเตาสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นเครื่องใช้ของคนในสมัยล้านนาเมื่อ 400-500 กว่าปีก่อน ตรงกับราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญอีก 2 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับประวัติชาวลัวะ บ้านเมืองก๊ะ คือบ่อน้ำทิพย์ และวัดพระพุทธบาทสี่รอยอีกด้วย

DSCF6961

DSCF6963

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ ได้เกิดโรคห่าระบาด เมื่อปี 2488 ตอนนั้นผู้คนได้ล้มตายเป็นจำนวนมาก จนต้องอพยพหนีไปอยู่หมู่บ้านใกล้เคียง คือ บ้านปากไฮ บ้านเอียก และสะเมิง ก่อนจะเหลือกลับมาอยู่ประมาณ 7 -8 หลังคาเรือนเท่านั้น จากนั้นในหมู่บ้านจึงเริ่มร้างมีป่าใหญ่ขึ้น และทำให้ตำนานลัวะเดิมหลายเรื่องของชาวลัวะ บ้านเมืองก๊ะขาดหายไป และไม่นานนักหลังจากโรคระบาด มีอยู่ปีหนึ่งในช่วงฤดูร้อน ปรากฏว่ามีการเผาป่าจนไฟได้ลุกไหม้พระวิหารเหลือเพียงแค่เสา 1 ต้นเท่านั้น ซึ่งต่อมาวัดได้รับการรื้อฟื้นและสร้างวิหารแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 และมีการสร้างพระเจดีย์ 5 ยอดทันใจขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552

DSCF6957

ในส่วนปัจจุบันนี้ วิถีชีวิตของชาวลัวะบ้านเมืองก๊ะ นับจากการที่มีการตั้งโรงเรียน ก่อสร้างสถูปขุนหลวงวิลังคะขึ้น ทำให้มีการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของชาวลัวะ เพื่อการคงอยู่ของประเพณีและวัฒนธรรมต่อไป ซึ่งพิธีกรรมที่จัดขึ้นกันทุกปีนั้นก็คือ พิธีกรรมการเลี้ยงขุนหลวง