รวมวัดเด็ด อ.แม่ริม #2

DSCF6097

ของดีมักมีเยอะ และเมื่อมีเยอะก็ต้องค่อยๆ ทยอยปล่อยของกัน เพราะไม่งั้นเดี๋ยวจะพาลเบื่อกันเอาง่ายๆ

หลังจากพาไปเยี่ยมชมวัดที่น่าสนใจไปแล้วใน Part 1 กับหัวข้อ “รวมวัดเด็ด อ.แม่ริม #1” ก็มาถึงเวลาที่ต้องมาร่ายกันต่อกับวัดที่เหลือเพื่อความสมบูรณ์แบบ และเพื่อเป็นข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม ที่อยากจะแวะมาเยี่ยมชมวัดที่ผมได้ลงรายละเอียดไป ซึ่งรายนามวัดที่น่าสนใจที่เหลือก็มีกันดังต่อไปนี้

DSCF6257

วัดกุมภประดิษฐ์

อยู่บ้านหม้อ หมู่ที่ 6 ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ.2425 ประวัติความเป็นมาวัดจากคำบอกเล่า พ่อหนานฟู ลานทอง เล่าว่าคนเฒ่าสมัยก่อน เล่าว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้ในวัด เดิมทีเกิดจากตอไม้มะเกวียน ที่ผุพังแล้วเจริญงอกงามขึ้น เมื่อต้นโพธิ์โตขึ้นก็มีคนเอาดินกี่ (อิฐ) มาก่อล้อมรอบไว้ แล้วเขียนป้ายว่า วัดสะหรีก่อเก๊าบ้านหม้อ ซึ่งถือว่าเป็นชื่อดั่งเดิมของวัดบ้านหม้อ แต่พอเวลาผ่านไปชื่อวัดก็เรียกกันสั้นลงว่า วัดบ้านหม้อ และเป็นวัดประจำหมู่บ้านที่ชาวบ้านใช้ในการทำบุญและอุปถัมภ์มาโดยตลอด สิ่งที่น่าสนใจในวัดกุมภประดิษฐ์ มีวิหารทรงล้านนา องค์เจดีย์ และศาลาหลวงพ่อพระพุทธโสธร ให้ได้เยี่ยมชม

DSCF6972

วัดพระพุทธบาทสี่รอย

ตั้งอยู่ ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทแห่งองค์สมเด็จพระโลกนาถ สัมมาสัมพุทธเจ้าถึง 4 พระองค์  และเป็นพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดรอยพระพุทธบาทสี่รอยนั้นจะประกอบด้วย รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอยใหญ่ยาว 12 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่สอง ยาว 9 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นรอยที่สาม ยาว 7 ศอก และรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตะมะ เป็นรอยที่สี่ รอยเล็กที่สุด ยาว 4 ศอก

DSCF6010

DSCF6011

วัดแม่สาหลวง

หนึ่งในวัดที่มีความสวยงามในแบบฉบับเมืองล้านนา ที่น่าสนใจสุดๆ แห่งหนึ่งใน อ.แม่ริม มีสถาปัตยกรรมหลายๆ อย่างที่ทรงคุณค่า ไล่ไปตั้งแต่ พระอุโบสถ เป็นศิลปะล้านนาโบราณ ตัวอาคารสร้างด้วยปูน หลังคากระเบื้องดินเผา ที่เหลือใช้ไม้ทั้งหมด ราวบันไดทางขึ้นพระอุโบสถเป็นประติมากรรมพญานาคสีขาว มียักษ์สองตนเฝ้าอยู่บริเวณทางเข้า จุดเด่นของพระอุโบสถหลังนี้ คืองานแกะสลักไม้ในส่วนต่างๆ ของอาคารตั้งแต่ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน เสา ซุ้มประตู-หน้าต่าง ล้วนถูกแกะสลักด้วยฝีมืออันประณีตของช่างในสมัยก่อน  โดยรอบพระอุโบสถจะมีประติมากรรมช้างแกะด้วยหินทราย ประดับอยู่โดยรอบ จึงเรียกกันว่า “พระอุโบสถช้างล้อม” พระธาตุเจดีย์ คล้ายเจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกาม มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ถึง 5 ชั้น แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มด้านละสามซุ้ม ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตรสีทอง หอพระไตรปิฎก ลักษณะคล้ายกับหอไตรที่วัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่ เป็นอาคารสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นอาคารปูนทาด้วยสีชมพู ส่วนด้านบนเป็นเรือนไม้ ประดับด้วยงานไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองสวยงาม พระวิหารทรงไทยประยุกต์ผสมล้านนา เป็นอาคารปูนทั้งหลัง หน้าบัน และเสาประดับด้วยงานกระจกสีสวยงาม ฝาผนังด้านในพระวิหารเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติ

DSCF6594_tonemapped

วัดชลประทาน

วัดที่มีความเกี่ยวข้องกันกับองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องจากครั้งเมื่อองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ยกทัพไปยังประเทศพม่านั้น เมื่อผ่านมาถึงบริเวณดอยสามเส้า เห็นเป็นชัยภูมิอันเหมาะสม จึงให้จัดตั้งเป็นค่ายพักแรมทัพ ณ ที่นี้ โดยกำหนดให้ดอยลูกที่สูงกว่าลูกอื่นซึ่งอยู่ตรงหน้าด่านทางเดิน เป็นที่สำหรับเฝ้าเวร ยามป้องกันข้าศึกศัตรู  สิ่งที่น่าใจมีหลุมดินและเศษซากอิฐเก่าที่เป็นแนวกันดินรอบปากหลุม ที่องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้นำเอาสมบัติมีค่าทั้งหมดฝังเก็บรักษาเอาไว้ นอกจากนี้ในวัดยังมีการสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้า พร้อมลานสักการะ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระองค์ท่านฯ