สวนบัวแม่สาออร์คิด #2

DSCF8310

การมาเที่ยวสวนกล้วยไม้ที่สวนบัวแม่สาออร์คิดนั้น จริงๆ แล้วมันมีหลายเรื่องให้ได้ลงรายละเอียดและพูดถึงแม้ก่อนหน้านี้ตัวเองจะเคยเขียนถึงภาพรวมของสวนบัวแม่สาออร์คิดไป (ไปเสิร์ชหาอ่านเอาในเว็บครับ ผมเขียนไปแล้ว) แต่นั้นมันยังไม่มากพอที่คนอ่านจะได้รับความรู้และความบันเทิงอย่างเต็มเปี่ยม ฉะนั้นในฐานะที่เป็นนักเขียน ก็ต้องเอามาเสนอกันอีกรอบในเวอร์ชั่นสุดพิเศษของ “สวนบัวแม่สาออร์คิด”

เท้าความกันซักนิดหลักๆ ภายในของ “สวนบัวแม่สาออร์คิด” จะถูกจัดแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกันตามชื่อของสวน คือสวนกล้วยไม้ กับสวนบัว ซึ่งรายละเอียดผมจะขอเริ่มจากสวนบัวก่อนก็แล้วกัน ถือซะว่าเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนจะเข้าสู่เรื่องของสวนกล้วยไม้

DSCF8286

สวนบัวของที่นี้ตัวแรกที่อยากให้รู้จัก เป็นพันธุ์บัวขาวธรรมนูญ บัวพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดในไทย ลักษณะใบเป็นรูปไข่ ขอบจักมน ปลายมน หูใบเปิดครึ่งหนึ่ง ใบสีเขียว บริเวณใต้ใบอ่อนสีเขียวเหลือบชมพู และเปลี่ยนเป็นสีชมพูเมื่อใบแก่ ดอกค่อนข้างดกบานเป้นรูปครึ่งวงกลม กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกและอับเรณูสีขาว ก้านใบและก้านดอกสีน้ำตาลแดง บัวพันธุ์นี้ชอบแสงแดดกึ่งร่มกึ่งแดดถึงเต็มที่ และปลูกในน้ำตื้นถึงลึกพื้นที่ผิวน้ำกว้าง

DSCF8283

อีกอันคงรู้จักกันดี เป็นบัวหลวง หรือปทุมชาติ  พันธุ์ที่มีชื่อว่านิลัมโบนิวซิเฟอรา ซึ่งมีการแยกชนิดของบัวหลวงออกมาหลายอย่างด้วยกัน โดยที่เห็นในภาพนี้ ชื่อ ”ปทุม” เป็นบัวหลวงชนิดดอกขนาดใหญ่ ทรงดอกสลวยและมีสีชมพู

DSCF8307

หันมาว่ากันถึงฝั่งของกล้วยไม้บ้างกล้วยไม้ มีหลากหลายสกุลด้วยกันที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงในประเทศไทย เช่น สกุลกุหลาบ สกุลเข็ม สกุลสิงโต สกุลคาแลนเธ สกุลซีโลจิเน สกุลซิมบิเดียม สกุลหวาย สกุลม้าวิ่ง สกุลแกรมมาโตฟิลลัม เป็นต้น ส่วนสายพันธุ์ทีมีให้ชมในสวนบัวแม่สาออร์คิดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์แอสโคเซ็นด้ากล้วยไม้ที่เจริญเติบโตแบบลำต้นเดี่ยวหรือโมโนโพเดียล เกิดจากการผสมข้ามสกุลระหว่างกล้วยไม้สกุลเข็ม(Ascocentrum) กับสกุลแวนดา (Vanda)  ลักษณะเด่นของกล้วยไม้สกุลนี้เนื่องจากกล้วยไม้สกุลเข็มมีดอกขนาดเล็ก สีสดใสและออกดอกยากในสภาพพื้นที่ที่มีความสูงระดับน้ำทะเล เช่น พื้นที่ภาคกลาง เมื่อนำมาผสมกับสกุลแวนดา ทำให้ได้กล้วยไม้สกุลแอสโคเซ็นดาที่ดอกมีขนาดใหญ่ สีสดใส เจริญเติบโตได้ดีและออกดอกง่ายเมื่อปลูกในภาคกลาง นิยมปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นกล้วยไม้กระถาง นอกจากนี้ยังมีการนำกล้วยไม้สกุลนี้ไปผสมกับสกุลอแรคนิสได้เป็นสกุลม็อคคารา ซึ่งนิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกในปัจจุบัน

DSCF7875

ส่วนพันธุ์แวนด้า เป็นกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยล ไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด

 

DSCF8303

ถือซะว่าเอามาฝากกันพอหอมปากหอมคอนะครับ กับเวอร์ชั่นพิเศษของสวนบัวแม่สาออร์คิด ใครสนใจข้อมูลเพิ่มลองไปศึกษาค้นคว้าได้ เพราะเรื่องของกล้วยไม้มันมีเยอะแยะมาก ชนิดที่เล่าหน่อยเดียวคงไม่พอแน่