จากตอนที่แล้วพาตระเวนดูศาสนสถาน ศาสนวัตถุต่างๆ ภายในวัด กับไปทำความรู้จักที่ไปที่มาของวัดป่าเจริญธรรมแล้ว เรามาต่อกันกับส่วนที่เหลือที่จะพาไปเยี่ยมชมกันครับ
เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา มาที่ตัวเจดีย์ของวัดป่าเจริญธรรมกัน เจดีย์ของวัดป่าเจริญธรรม เป็นเจดีย์แบบล้านนา ที่รับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม
ใกล้ๆ กับเจดีย์ เป็นพระวิการของวัด เป็นวิหารปิด ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือฉลุลายปิดทองบริเวณผนังด้านหลังของพระประธาน ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ พื้นที่ของพระสงฆ์ พื้นที่ของฆราวาส และฐานชุกชี หรือแท่นแก้ว พื้นที่ด้านในสุดของวิหาร ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นประธานของวัด ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้)
นอกจากสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจต่างๆ ที่มีกันเยอะมากมายแล้วภายในบริเวณวัด ยังมีรูปปั้น และรูปวาดต่างๆ ในสมัยอดีต อีกทั้งยังมีรูปปั้นจำลองตำนานต่างๆ เช่น ตำนานหนองสะเรียม อยู่ภายในวัด คอยเตือนสติให้ผู้คนไม่ประพฤติผิดศีลธรรม
ส่งท้ายด้วยเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับผีมายืมถ้วยชามวัดป่าเจริญธรรม (อ้างอิง จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันอาทิตย์ ที่ 3 พ.ค. ปี 2525) ว่าหลายปีก่อนถ้วยชามของวัด ซึ่งเก็บไว้ในโรงครัวใส่กุญแจตลอดเวลาได้หายไป จากนั้นต่อมาอีกสามเดือนถ้วยชามซึ่งใส่ไว้ในเข่งก็กลับมาอยู่ที่เดิม โดยสภาพเหมือนถูกล้างใหม่ๆ แถมยังมีน้ำไม่สะเด็ดขังอยู่ในชามนั้น ทั้งนี้ ตลอดเวลาสามเดือนที่ถ้วยชามหายไปนั้นประตูโรงครัวก็ยังคงลั่นกลอนใส่กุญแจไว้อย่างแน่นหนา และลูกกุญแจก็เก็บไว้อย่างดี ไม่มีผู้ใดไปไขได้เลย ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เองชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะผีซึ่งอาศัยในหนองน้ำ หนองสะเรียม มายืมไปใช้เมื่อเสร็จแล้วจึงนำมาคืนให้