ใครมาเชียงใหม่แรกๆ จะนั่งรถโดยสาร หรือขับรถสำราญกันเอง ร้อยทั้งร้อยผมกล้าพนันเอาหัวเป็นประกันเลยว่า ส่วนใหญ่ต้องงงกับประตูเมืองทั้ง 5 ด้านอย่างแน่นอน
เครื่องนำทาง GPS แผนที่ฉบับแผ่นพับ หรือจะเป็นแอพพลิเคชั่นนำทางในสมาร์ทโฟนราคาสองหมื่นกว่า แรกๆ เหมือนจะช่วยท่านได้ดีล่ะครับ แต่พอเจอสถานการณ์จริงเข้าให้แล้ว ประสบการณ์ และการเรียนรู้เท่านั้น จะช่วยท่านให้หายงง
ในฐานะผู้เคยประสบชะตากรรมมาก่อน ย่อมพอจะเห็นอกเห็นใจท่านทั้งหลายที่กำลังหาทางออก หรือยังงงงวยกันอยู่ เอาเป็นว่าเพื่อความกระจ่าง (ต้องจำด้วยนะ) ผมจะทำการร่ายรายละเอียดเกี่ยวกับผู้รักษาประตู เอ้ย ไม่ใช่แล้ว เกี่ยวกับประตูในคูเมืองเชียงใหม่ก็แล้วกันว่ามันเป็นยังไง อยู่ตรงไหนกันบ้าง
ก่อนจะเข้าเรื่อง ก็ต้องมีการเกริ่นกันก่อนเป็นธรรมดา แรกเริ่มเดิมทีเดิมกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นมีสองชั้น คือกำแพงชั้นนอก สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 22 และ กำแพงชั้นในซึ่งเป็นกำแพงแต่เดิมสมัยสร้างเวียง โดยประตูเมืองในปัจจุบันจะเป็นประตูเมืองของกำแพงชั้นในซึ่งมีประตูทั้งหมด 5 ประตู อันได้แก่ดังนี้
ประตูช้างเผือก เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้ทรงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น
ประตูเชียงใหม่ เดิมมีชื่อว่า ประตูท้ายเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศใต้
ประตูท่าแพ เดิมมีชื่อว่า ประตูเชียงเรือก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันออก ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งมีแพจำนวนมากอยู่
ประตูสวนดอก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันตก ที่มาของชื่อเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญาเม็งราย
ประตูแสนปุง หรือ ประตูสวนปรุง เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัย พญาสามฝั่งแกน เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างเจดีย์ราชกุฏคารขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ที่ตำหนักนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จะได้ทรงสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงทรงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ต่อมาเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ใช้ประหารนักโทษ ใช้หอกหลาวทิ่มแทงปุง (พุง) ชาวบ้านจึงเรียกว่าประตูสวนปุง หรือ ประตูแสนปุง นับแต่อดีต เชียงใหม่มีประเพณีที่ว่าหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
สำหรับประตูของกำแพงเมืองชั้นนอก มีทั้งหมด 7 ประตู 4 ประตูแรกเป็นประตูเดิมที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ได้แก่ ประตูเชียงเรือก (เชียงเลือก) หรือประตูท่าแพ (ชั้นนอก) อยู่ทางทิศตะวันออก ประตูหล่ายแกง ประตูขัวก้อม และประตูไร่ยา (ประตูหายยา)
ส่วนอีก 3 ประตูที่สร้างเพิ่มในรัชสมัย พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2 ก็มีประตูศรีภูมิ ประตูช้างม่อย และประตูกะโหล้ง
อ่านมาถึงตรงนี้กันแล้ว คาดว่าคงจะค้นพบ หาทางออกของประตูเมืองกันได้นะครับ สุดท้ายก็อยากจะฝากว่า โชคดี มีชัย ไปไหนไม่หลงทาง ระหว่างแอ่วในคูเมืองนะครับ อิอิ