ผมเขย่ามือทำความรู้จักวัดพันอ้นครั้งแรก ตอนมาเที่ยวถนนคนเดินท่าแพครับ
ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว เหตุผลที่ชวนสะดุดให้แวะเข้าไป นอกจากเรื่องของกินแล้ว (แถวนั้นของกินเยอะครับ ในวันที่มีถนนคนเดิน) ก็เห็นจะเป็นองค์เจดีย์นี่แหละครับ ยิ่งพอโดนแสงไฟสาดกระทบใส่ในยามค่ำคืน ก็ยิ่งขับให้ดูเด่นจนเหลืองอร่ามงามตา
เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมตอนกลางคืนมันไม่เป็นใจ ตกกลางวันในวันต่อมา ผมเลยถือโอกาสแวะไปชมเต็มๆ ตากันอีกรอบ เพื่อความกระจ่างชัดในตัววัด
ตามประวัติความเป็นมา บอกเล่าว่าวัดพันอ้นสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2044 ในรัชสมัยของพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พญาแก้วหรือพระเมืองแก้ว) กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 13 ในสมัยที่ล้านนาไทย ยังเป็นอิสระอยู่ในราชวงค์มังรายมหาราช ซึ่งตรงกับแผ่นดินกรุงศรีอยุธยายุคที่ 2 ในแผ่นดินของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
จากนั้น พอพลิกดูความหมายของชื่อวัด สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชื่อผู้สร้างวัดที่ถวายไว้กับพระพุทธศาสนา โดยผู้สร้างคงเป็นทหารหรือขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์เป็น “พัน” เพราะคนในสมัยนั้นเมื่อตนเองประสบความสำเร็จในชีวิตมักจะสร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์ และนำชื่อของตนเองเป็นชื่อวัดที่ตนเองสร้างขึ้นด้วย และท่านคงมีนามว่า “อ้น” เมื่อสร้างวัดแห่งนี้เสร็จจึงให้นามว่า “วัดพันอ้น” ตามบรรดาศักดิ์และชื่อของท่าน ซึ่งคงไม่ต่างจากวัดจำนวนมากในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่นิยมใช้ชื่อผู้สร้างวัดเป็นชื่อของวัดอยู่ด้วย เช่น วัดหมื่นสาร เป็นวัดที่หมื่น หนังสือวิมลกิตติสิงหลมนตรี สังฆการี เป็นผู้สร้าง หรือจะเป็น วัดหมื่นล้าน ที่หมื่นดังนครหรือหมื่นโลกสามล้าน ทหารเอกของพระเจ้าติโลกราชสร้างขึ้น
แต่เดิมก่อนหน้านี้ บริเวณที่ตั้งวัดพันอ้นนั้น มีวัดอยู่ 2 วัด กันครับ คือวัดพันอ้น และวัดเจดีย์ควัน เป็นวัดเล็กๆ อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพันอ้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน และก็เป็นวัดที่มีขนาดแล็กทั้งคู่ และบวกกับระยะนั้นเป็นยุคที่ล้านนารุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่ง มีการสร้างวัดวาอารามขึ้นมากมายในสมัยพระเมืองแก้วนี้ ต่อมาทั้งสองวัดได้รวมเป็นวัดเดียวกันคือ วัดเจดีย์ควันพันอ้น แต่คนทั่วไปมักจะเรียกง่าย ๆ ว่า วัดพันอ้น
จนถึงปี พ.ศ. 2474 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 (องค์สุดท้าย) คณะสงฆ์สมัยนั้น คือหลวงพ่อพระอภัยสารทะ วัดทุงยู เป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิจารณาเห็นว่า วัดพันอ้น เป็นศูนย์กลางเหมาะสมที่จะตั้งเป็นสำนักเรียนประจำจังหวัดเชียงใหม่ แต่พื้นที่ไม่กว้างขวางและค่อนข้างคับแคบ จึงได้ขยายบริเวณวัดออกไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ของวัดเจดีย์ควันซึ่งตอนนั้นเป็นวัดร้าง ส่วนเจดีย์ควัน ปัจจุบันนี้สภาพของเจดีย์ไม่ปรากฏให้เห็น เพราะในปี พ.ศ. 2498 หลวงพ่อพระครูศรีปริยัตยานุรักษ์ ได้รื้อเจดีย์ออกแล้วสร้างศาลาการเปรียญแทน ซึ่งปัจจุบันปรากฏให้เห็นเพียงหลุมเจดีย์เท่านั้น
สำหรับศาสนสถานอันสำคัญ ภายในพระวิหาร มีพระพุทธชินราช (จำลอง) พระพุทธมงคลมหามุนี และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่สวยงาม (วันที่ไปจังหวะไม่ดี ทางวัดไม่อนุญาตให้เข้าไปด้านในครับ)
อีกที่เป็นพระเจดีย์สารีริกธาตุสิริรักษ์ บริเวณลานหน้าพระวิหารของวัดพันอ้น ที่บูรณะเสร็จไป เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2550 หลังจากเกิดพังทลายลงมาทั้งองค์ เมื่อปี 2549 หลังจากสร้างมานานกว่า 500 ปี
ใครมาเที่ยวถนนคนเดินท่าแพในวันอาทิตย์ ลองเผื่อเวลาล่วงหน้าไว้ซัก 2-3 ชั่วโมงก่อนถนนคนเดินจะเริ่ม แวะชมความงามของวัดพันอ้นกัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทริปมันส์ๆ ที่น่าสนใจกันเป็นอย่างยิ่งครับ