ถ้ามีการจัดอันดับพิพิธภัณฑ์ในเมืองเชียงใหม่ ผมจะไม่ลังเลใจเลยซักนิด ถ้าจะจิ้มเลือกพิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม ติด 1 ใน 3 พิพิธภัณฑ์ที่สมควรต้องแวะมาชมกันซักครั้ง
ยิ่งเมื่อมองถึงจุดกำเนิดมัน ที่เกิดจากแรงศรัทธาชาวบ้านแถวนั้น แถมยังทำได้ดี และน่าเที่ยวกว่าพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของรัฐ ไม่ปรบมือให้ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของศรัทธาวัดเกต เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2542 มีคณะกรรมการวัดเกตการามหลายคนเป็นผู้ดูแล เดิมทีอาคารของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เคยเป็นกุฏิพระครูชัยศีลวิมล (พ.ศ. 2429 – 2500) เรียกกันว่า "โฮงตุ๊เจ้าหลวง" ลักษณะเป็นอาคารหลังใหญ่มีลูกไม้ชายคา มีไม้กลึง (เคียนปุ้นลม) ที่หน้าจั่วด้านหลังเป็นตึกทรงจีน ด้านหน้าเป็นไม้ระแนงโปร่ง มีคุณลุงจริน เบน เป็นหัวเรือใหญ่ในการทำหน้าที่ดูแล และต้อนรับเยี่ยมผู้ชม
ส่วนหน้าของอาคารพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะเดินเข้ามาในตัวอาคาร มีการจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องดนตรีล้านนา ที่โดดเด่นสายตาสุด คงหนีไม่พ้นกลองหลวงขนาดใหญ่วางตั้งไว้
สับตีนเข้ามาสำรวจด้านในกันบ้าง ห้องแสดงจะถูกจัดออกเป็น 4 ส่วน ใหญ่ๆ ด้วยกัน ซึ่งรายละเอียดก็จะมีกันดังต่อไปนี้
ห้องแรก เป็นห้องแสดงสิ่งของชุมชน และพระพุทธรูปศิลปะพม่า ภายในนั้นก็จะประกอบไปด้วย พระพุทธรูปศิลปะแบบพม่าฝั่งขวามือตรงปากทางเข้า ส่วนทางซ้ายมือมีกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน หลากหลายอย่าง ชอบสุดก็บั้งไฟสมัยก่อนแหละครับ เท่โคตรๆ
ห้องที่ 2 จัดแสดงสิ่งของในอดีต และแสดงผ้าโบราณพระชายาเจ้าดารารัศมี
ห้องที่ 3 จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้หลากหลายในอดีตไม่ต่างกันกับห้องที่ 2 เท่าไหร่ และส่วนนี้สิ่งของแต่ล่ะชิ้น จะมีป้ายติดอธิบายรายนามผู้บริจาคด้วยว่าเป็นใคร
ห้องที่ 4 ห้องสุดท้าย เป็นห้องแสดงภาพล้านนาในอดีต ใครอยากเห็นภาพในสมัยเก่าว่าเป็นยังไง มีให้ชมกันหลากหลายใบเลยทีเดียว
ด้านนอกอาคารอีกส่วนของพิพิธภัณฑ์ฝั่งตะวันตก เป็นส่วนแสดงกลองล้านนา เครื่องดนตรี และเป็นที่ฝึกฝนศิลปะล้านนาให้กับเยาวชนในชุมชนในวันเสาร์ – อาทิตย์ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมล้านนาให้ยั่งยืนต่อไป
บรรยากาศโดยรวมภายใน ต้องบอกว่าโอเค สิ่งของจัดแสดงมีให้เลือกดูละลานตากันเยอะจริงๆ แม้ของบางอย่างจะมีฝุ่นจับบ้าง เนื่องจากการขาดการดูแล (คนดูแลน้อยไป?) แต่ก็ไม่ถึงกับฝุ่นจับเขลอะ จนมองดูเป็นของร้าง หรือพิพิธภัณฑ์ฝุ่นแต่อย่างใด
เวลาทำการ 09.00 – 16.00 น. ทุกวัน ค่าเข้าชมฟรี ใครอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมตรงไหน ลองถามไถ่ สนทนาพาทีกับคุณลุงจริน เบน คาดว่าความรู้หลายๆ อย่างจากปากแก คงจะมีประโยชน์มากพอสมควร
ดูของเก่า ฟังเรื่องเล่าจากคนแก่ คนที่ได้ความรู้แน่ๆ คือคนรุ่นหลัง…