วัดยางกวง ติดกับกาดก้อม ตำบลหายยา ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดแห่งนี้ขับรถผ่านหลายทีครับ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้แวะ และ ณ วันนึง ท่ามกลางแสงแดดอันแผดเผา ประจวบเหมาะกับมีเวลาว่าง กระผมจึงแว่บเข้าไปสำรวจดู ว่าด้านในมีอะไรน่าสนใจ ให้เที่ยวชมกันบ้าง
ก่อนจะไปกวาดสายตาสำรวจดู ก่อนอื่นก็ต้องไปรู้จักที่มาของวัดก่อน วัดยางกวง หรือบางครั้งก็เรียกว่า วัดหน่างรั้ว ที่ตามตามพจนานุกรมล้านนาให้ความหมาย “หน่างรั้ว” ว่าเป็น รั้ว หรือแนวกัน ที่ทำให้คนหรือสัตว์เข้ามาติดแล้วออกไปไม่ได้ สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นในยุคต้นของราชวงศ์มังราย
จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งพญามังรายทรงออกแสวงหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองใหม่ พระองค์เสด็จออกจากเวียงกุมกาม และทรงแวะตั้งค่ายพักแรม ณ บริเวณแห่งนี้ โดยให้ทหารและเสนาอำมาตย์สร้างหน่างรั้ว กั้นรอบล้อมค่ายพักแรมไว้ เพื่อป้องกันภัยอันตรายทั้งมวล ในเวลาต่อมาที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า วัดหน่างรั้ว แต่ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด ว่าวัดนี้สร้างในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงหลักฐานปรากฏในนิราศหริภุญชัย (พ.ศ. 2060)
หลังล้านนาถูกพม่ายึดครอง เป็นเวลา 200 กว่าปี ทำให้วัดวาอารามต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ถูกละทิ้งตกอยู่ในสภาพวัดร้างเป็นจำนวนมาก วัดยางกวงก็ถือเป็นหนึ่งในจำนวนวัดร้างทั้งหลายเหล่านั้น จวบจนปี พ.ศ. 2339 พระเจ้ากาวิละได้ยกทัพกลับมาขับไล่พม่าครั้งสุดท้ายออกจากล้านนา และได้กวาดต้อนเอาชนเผ่าไทยจากเขตเชียงรุ้งสิบสองปันนา และเชียงตุงให้มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ หรือที่เรียกกันว่า เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ซึ่งผู้คนทั้งหลายที่ถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือ มีกลุ่มหนึ่งเป็นชาวไทยเขินมาจากบ้านยางกวงเมืองเชียงตุงเข้ามาอยู่รอบๆ วัดหน่างรั้ง จากนั้นก็ได้ช่วยกัน ฟื้นฟูบูรณะวัดแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรือง และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็น วัดยางกวง เหมือนในเชียงตุง เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพวกเขามาจากบ้านนายางกวงเชียงตุง และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดยางกวงแห่งนี้กับกลายเป็นวัดร้างอีกรอบ
ต่อมาปี พ.ศ. 2549 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี พระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร รองเจ้าคณะภาค 7 เห็นว่าวัดยางกวง (ร้าง) แห่งนี้ยังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ คือ พระเจดีย์ และพระพุทธรูป จึงเห็นสมควรทำการฟื้นฟู และบูรณะขึ้นใหม่
สำหรับภายในวัดหลังจากเดินเข้าไป เด่นสุดตรงหน้าจะเป็น พระเจ้าแสนแส้ ที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยการหล่อเต็มองค์ โดยให้มีพุทธลักษณะเหมือนเดิมทุกประการ โดยได้เริ่มลงมือหล่อตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองเหลืองขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 9 เมตร โดยต้องใช้ทองเหลืองทั้งสิ้น 12,000 กิโลกรัมหรือประมาณ 12 ตัน โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7,000,000 บาท ทั้งนี้ ก็เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสอันเป็นมิ่งมงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2549 – 2550
ส่วนพระเจ้าแสนแส้องค์เดิมนั้น เศียรพระพุทธรูป “พระเจ้าแสนแส้ ” ได้นำกลับไปจัดแสดงที่พิพิธภัณท์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ ( ข้างวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ) เมื่อปี พ.ศ. 2518 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ออกจากพระเจ้าแสนแส้ ก็จะเป็นพระวิหาร ที่กำลังจะถูกสร้าง ส่วนที่เห็นในภาพด้านบน น่าจะเป็นพระอุโบสถนะครับ จากนั้น ที่เด่นสง่ากว่าใครไม่แพ้พระเจ้าแสนแส้ ก็คือพระบรมธาตุเจ้า “จ๋อมสะหลีปุรีนามหน่างรั้ว” โดยบริเวณด้านบนรอบๆ พระบรมธาตุจะมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ประดิษฐานกันอยู่
ใครยังไม่เคยมานมัสการพระเจ้าแสนแส้ และชมความงาม กรุณามากันด่วนเลยครับที่วัดยางกวง ส่วนใครมีจิตศรัทธาเมตตา ก็กรุณาทำบุญกุศลได้ตามใจท่าน กับการเป็นเจ้าภาพในการบูรณะ พระวิหารพระเจ้าแสนแส้ วัดยางกวง รายละเอียดก็อ่านเอาได้ตามป้ายในวัดครับ
บุญกุศล หาซื้อไม่ได้ อยากได้ ก็ต้องทำเอาเอง…