วัดธาตุคำ ไม่ใช่วัดที่จะเดินสุ่มสี่สุ่มห้า เข้าไปชมกันได้ง่ายๆ นะครับ
เหตุที่ต้องกล่าวเช่นนั้นก็เพราะ ในวัดมีน้องหมา “ดุ” คอยดักทางไว้ ไม่ให้ย่างกรายเข้าไปชมกันได้ง่ายๆ ทั่วบริเวณ
เสียงเห่าดักทาง ดังมาจากด้านหลังองค์เจดีย์ ใครคนนี้กะจะไปเก็บภาพอีกมุมให้ได้สวยๆ แต่พอได้ยินเสียงน้องหมาประกอบกับป้ายระวังหมาดุ ติดเตือนไว้ 2-3 ที่ ชีวิตนี้ไม่ควรเสี่ยง ขืนโดนงับมา หลวงพ่อ หลวงพี่ในวัด คาดว่าคงจะช่วยไม่ทัน หรือแม้กระทั่งตัวเจ้าของหมาจริงๆ ก็อาจจะออกมาห้ามไม่ได้
ฉะนั้น เอาเท่าที่ได้ และเท่าที่มี และชีวิตเรานี้ปลอดภัย อิอิ
วัดธาตุคำ ตรงถนนสุริยวงศ์ ตำบลหายยา ในตัวอำเภอเมือง เดิมทีเป็นวัดใหญ่ครับ สันนิษฐานว่าคงเป็นวัดที่กษัตริย์สร้างขึ้น โดยสังเกตจากพระพุทธรูปประธานในวิหารซึ่งเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ สวยงามตามศิลปะเชียงแสน ซึ่งหากเป็นชาวบ้านทั่วไป คงไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ได้ใหญ่โตขนาดนี้ เพราะจะต้องอาศัยกำลังทรัพย์เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นพระพุทธรูปประธานของวัดธาตุคำ ยังเป็นพระที่ทำจากสัมฤทธิ์เพียงวัดเดียวในตำบลหายยา ส่วนวัดอื่น ๆ นั้นเป็นพระพุทธรูปที่ก่อจากอิฐถือปูน
ประวัติความเป็นมาของวัด ไม่มีหลักฐานปรากฏที่แน่ชัดครับ มีเพียงตำนานที่บอกเล่าสืบต่อกันมาเพียงนิดหน่อย โดยไม่สามารถจะปะติดปะต่อ เป็นเรื่องราวโดยสมบูรณ์ได้
จากจารึกในโครงนิราศหริภุญชัยบทที่ 30 บอกไว้ วัดธาตุ เดิมชื่อวัดกุฏีคำ ชาวบ้านสมัยก่อนจะเรียกว่า “วัดใหม่” วัดนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกำแพงเมืองชั้นใน กับกำแพงเมืองชั้นนอก (กำแพงดิน) แต่เดิมวัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก แต่เมื่อมีการตัดถนนสุริยวงศ์ จากประตูเชียงใหม่ไปประตูก้อม ทำให้เนื้อที่ของวัดทางด้านทิศตะวันออกส่วนหนึ่งกลายเป็นที่ของเอกชน
ทางฝั่งนักประวัติศาสตร์ล้านนาต่างหล่นความเห็นไว้ “วัดกุฏีคำ” หรือ “วัดธาตุคำ” อาจเป็นพระอารามหลวงของเมืองเชียงใหม่ที่พระมหากษัตริย์สร้างขึ้น และคงเป็นวัดสำคัญเพราะมีลักษณะแปลกกว่าทุกวัดคือ การก่อสร้างวิหารและพระธาตุนั้นได้พูนดินขึ้นสูงประมาณ 3 เมตร ทำให้เป็นเขตพุทธาวาสที่มีขนาดกว้าง 60 เมตร ยาวเกือบ 100 เมตร ซึ่งในเมืองเชียงใหม่พบว่าการสร้างวิหารและพระธาตุบนเนินดินนั้นมีเพียง 2 วัด คือ วัดบ้านปิง ต.ศรีภูมิ และวัดธาตุคำเท่านั้น
นอกจากนั้น ในตำนานมูลศาสนายังปรากฏชื่อของ “มหาติปิฏกสังฆราช” ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดกุฏีคำ เมื่อครั้งที่พระเจ้าติโลกราช กษัตรย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 10 ได้นิมนต์จากวัดกูฏีคำไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอก ทำให้ทราบว่าวัดกุฏีคำนั้นก่อสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย มีอายุนานกว่า 600 ปี
ภายหลังจากที่เมืองเชียงใหม่ถูกพม่าปกครอง (พ.ศ.2101 – 2325) วัดกุฏีคำถูกทิ้งให้รกร้าง กระทั่งพระเจ้ากาวิละได้อพยพเอาชาวไทลื้อ ไทเขิน จากสิบสองปันนาและเชียงตุงมาอยู่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2347 เจ้าสารัมพยภูมินนรินทราเขมาธิปติราชา เจ้าผู้ครองนครเชียงตุง ได้อพยพเข้ามาอยู่เชียงใหม่ พร้อมไพร่ฟ้าประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก ทางเชียงใหม่จึงได้จัดให้อยู่ในกำแพงเมืองชั้นในด้านทิศใต้ บริเวณวัดนันทาราม วัดยางกวงและวัดกุฏีคำ ซึ่งขณะนั้นเหลือแต่เนินวิหารและองค์เจดีย์
และเมื่อมาอยู่เชียงใหม่ท่านจึงได้เริ่มบูรณะวัดนันทารามและวัดยางกวงก่อน เมื่อประชาชนพลเมืองเพิ่มมากขึ้น มีเจ้านายและลูกหลานสายเจ้าแสนเมืองซึ่งเป็นน้องชายของเจ้าสารัมพยะ ได้อพยพเข้ามาพร้อมกับตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดกุฏีคำ จึงได้ช่วยกันบูรณะวัดร้างขึ้น เรียกกันทั่วไปว่า “วัดใหม่” เพราะบูรณะทีหลังวัดนันทารามและวัดยางกวง
วัดกุฏีคำ เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดธาตุคำ” เพราะเหตุผลว่าภายในวัดไม่มีกุฏีคำปรากฏแล้ว เหลือแต่เพียงองค์พระธาตุอยู่จึงให้ชื่อใหม่ว่าวัดธาตุคำ ทั้งนี้เพราะพระธาตุองค์เดิมบุด้วยทองจังโก กระทั่งปี พ.ศ.2477 แผ่นทองได้ปลิวหายไปเป็นจำนวนมาก ทางเจ้าอาวาสจึงได้เก็บรวบรวมทองที่เหลือแล้วนำไปฝังไว้ จากนั้นจึงได้ซ่อมแซมบูรณะองค์พระธาตุ โดยได้นำทองมาปิดไว้ให้เหมือนกับเมื่อครั้งในอดีต ส่วนพระวิหาร สำหรับวันที่ผมไป ไม่สามารถเข้าไปด้านในได้นะครับ เพราะทางวัดได้ทำการปิดไว้ เลยเก็บภาพได้เฉพาะภายนอกเท่านั้น
เสียงหมาดังมาอีกรอบ คราวนี้ผมไม่สน เพราะงานเสร็จแล้ว ได้เวลาเผ่น โอกาสหน้าฟ้าใหม่ไว้เจอกัน แต่คราวหลังเอ็งคงไม่ได้เห่าแบบนี้อีก เพราะผมจะเอาของกินมาฝาก ฮ่าๆๆ
ระหว่างกินไป ถ้ามันเห่าได้ และแวะมากัด ก็เกินไปแล้วล่ะครับ น้องหมา…