ก่อนถึงวัดเจดีย์หลวง บนถนนพระปกเกล้า ฝั่งซ้ายมือ วัดช่างแต้ม คือ อีกหนึ่งวัดเก่าแก่อันสำคัญ ในการแวะไปเยี่ยมชม
ตามประวัติที่เห็นปะไว้บนบอร์ดในวัดบอกว่า ตำนานมูลศาสนา ได้กล่าวถึงการสร้างวัดในเวียงเชียงใหม่ มีความโดยย่อว่า (ปีร้วงไก๊ศักราชได้ ๗๘๓ เดือน ๗ ดับ ปีกุน ตรีศก พ.ศ. ๑๙๗๔ เดือน ๗ เหนือแรม ๑๔ ค่ำ) ในปีนั้นชาวเมืองทั้งหลายพร้อมกันปลงพระยาสามฝั่งแกน (กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย) ให้ไปอยู่เมืองยวม (ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน) แล้วอาราธนาลูกท่านชื่อท้าวลกมากินเมืองเชียงใหม่เดือน ๘ ออก ๕ ค่ำ วันอังคารไทยเต่ายี ยามตุดเช้า (ปีกุน ตรีศก พ.ศ. ๑๙๗๔ เดือน พฤษภาคม ถึงเดือน มิถุนายน ขึ้น ๕ ค่ำ วันอังคาร เวลา ๐๗.๓๐ น.) ลวดอุสสาราชาภิเษกได้ชื่อว่า อาทิตตราชดิลก (ชินกาลบาลีปกรณ์เรียก พระเจ้าสิริธรรมจักพรรดิพิลภ ราชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์มังราย) และท่านรู้ข่าวว่า มหาญาณคัมภีร์เถรเจ้าไปเอาศาสนา (ประเทศลังกา) มารอดท่านก็ยินดีมากนักแล พระยาอาทิตและมหาเทวีจึงพร้อมกันให้ม้า ราชมลเฑียรหลังเก่าไปแปลงที่มหาเถรเจ้าจักอยู่ จึงแต่พ่อเลี้ยงท่าน ชื่อท้าวเชียงราย ๑ ล้าน หมื่นสามเด็ก ๑ แสน น้ำผึ้ง ๑ เป็นเล้า (เก๊า) ไปอาราธนาพระมหาญาณคำภีรเถรเจ้า เป็นเก๊าแห่งสังฆะทั้งมวลแต่ลำพูนเข้ามาอยู่ชื่อว่า “วัดราชมลเฑียร” แล ลุแต่นั้นมาพระยาจึงสร้างศาสนาแถมไปมากมาย และปีสี่สิบห้า สิบหลังผับทั้งเมืองเวียงพิงเชียงใหม่ทั้งมวลได้ ๕๐๐ อารามก็มีแล
อ่านจบถึงตรงนี้ ก็ขออนุญาตซัดพาราไปซัก 5 เม็ด นะครับ เพราะวัยรุ่นอย่างผม บอกตรงๆ มึนงง กับคำศัพท์สุดๆ เพราะไม่รู้อะไร เป็นอะไร แต่ทำไงได้ ในเมื่อนี้คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่ยากจะบิดเบือน ฉะนั้น ท่านผู้ใดสามารถแปลมันออกมา ให้เข้าใจ แบบภาษาชาวบ้านทั่วไปอ่านรู้เรื่อง จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ แก่คนอ่านสุดๆครับ
เอาเท่าที่พอเข้าใจกัน วัดช่างแต้มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2038 – 2063 (ประมาณ 400 กว่าปี) เดิมชื่อวัดต้อมแต้มแก้วกว้างท่าช้างพิชัย สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ส่วนรายละเอียดอย่างอื่นไม่มีปรากฏมาเพิ่มเติม
ภายในวัดแห่งนี้ มีศาสนสถานหลายอย่างครับ ซึ่งก็จะประกอบด้วยวิหารทรงล้านนาไทย จำนวน 1 หลัง กุฏิ 700 ปีศรีเมืองเชียงใหม่ 1 หลัง หอระฆัง องค์เจดีย์ มีปูชนียวัตถุเป็นพระพุทธรูปฝนแสนห่า ประดิษฐานอยู่บนกุฏิ 700 ปี ศรีเมืองเชียงใหม่
โดยพระพุทธรูปฝนแสนห่านี้ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย เชียงแสนลังกา มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 35 นิ้ว หนา 15 นิ้ว อายุประมาณ 1,000 กว่าปี พุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงให้ความสำคัญ ถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านเมืองมาแต่ในอดีต
ในวันสงกรานต์ของจังหวัดเชียงใหม่ทุกปี จะมีพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปฝนแสนห่า จากวัดช่างแต้มเข้าขบวนแห่พระสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชากัน และอีกงานเป็นพิธีบูชาเสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองเชียงใหม่ งานนี้ก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปฝนแสนห่า จากวัดช่างแต้มขึ้นบนบุษบกราชรถ เข้าขบวนแห่รอบเมืองเชียงใหม่เช่นกัน และจะนำมาประดิษฐานชั่วคราว ณ วิหารจัตุรมุขเสาอินทขิล เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ปิดทอง สรงน้ำและบูชาเสาอินทขิล เพื่อความเป็นสิริมงคล นำความร่มเย็นเป็นสุข ความอุดมสมบูรณ์ มาสู่ชาวเชียงใหม่ และชาวจังหวัดใกล้เคียงสืบไป