วัดป้านปิง 1 ใน 2 วัดของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่น ตรงที่การก่อสร้างวิหารและพระธาตุนั้น จะก่อสร้างกันบนเนินดินสูงถึง 3 เมตร ซึ่งอีกหนึ่งวัดที่มีลักษณะคล้ายกัน จะเป็นวัดธาตุคำ ในตำบลหายยา
ตามที่มาของชื่อวัดนั้น คำว่า “ป้าน” เป็นภาษาล้านนาโบราณครับ แปลว่า “ขวาง” ซึ่งพอถอดความหมายแปลกันโดยรวม ก็คือแนวขวางแม่น้ำปิง และเพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้น สรุปรวมๆก็คือ ภยันอันตรายจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำปิง จะไม่สามารถข้ามมาได้ โดยในอดีตภัยสงครามที่จะมาเชียงใหม่ก็มีไปตั้งแต่ กองทัพจากมองโกล ในสมัยพ่อขุนเม็งราย, กองทัพจากพม่า และกองทัพจากอยุธยา เป็นต้น
วัดป้านปิง สร้างเมื่อ พ.ศ.2025 คำนวณอายุโดยไม่ต้องกดเครื่องคิดเลข ก็ปาไป 500 กว่าปีครับ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2115 โดยในวัดแห่งนี้ ก็จะประกอบด้วยศาสนสถานสำคัญ กันหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
พระเจดีย์แห่งวัดป้านปิง เป็นเจดีย์แบบฐานสูงย่อมุมไม้ 28 ทรง 12 เหลี่ยม เป็นเจดีย์คู่วัดมาตั้งแต่ต้น มีฐานกว้าง 10.20 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร มีทรงแบบล้านนาฝีมือช่างหลวง
พระวิหาร สร้างในปี พ.ศ.2024 เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา มีความสวยงามมาก เป็นที่ทำบุญของศรัทธาสาธุชนทั่วไป เดิมทีพระวิหารเดิมเกิดไฟไหม้ พระวิหารหลังนี้ จึงเป็นพระวิหารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นภายหลัง โดยซุ้มประตูโขงพระวิหาร วัดป้านปิง จะมีรูปปั้นลักษณะจีนปูนตำสูตรล้านนา เป็นรูปพญานาคสองตัวหางพันกัน เหนือขนดลำตัวสองฟากเป็นยอดเขาหิมพานต์ พร้อมพระอาทิตย์ พระจันทร์ แสดงถึงขอบของจักรวาล ขากรอบประตูมีบัวควำบัวหงายปก ซุ้มประตูโขงนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาชั้นเลิศในการปั้นประตูโขง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างหลวง เช่นเดียวกับซุ้มประตูโขงพระอุโบสถของวัดพระสิงห์อย่างแน่นอน เพราะเป็นวัดที่มีการสร้างขึ้นในยุคของพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกาเหมือนกัน
ด้านในพระวิหาร ประดิษฐานพระเพชรสิงห์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ทั้งสององค์ เป็นศิลปะแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง องค์พระประธานหน้าตักกว้าง 1.70 เมตร องค์รองด้านขวาหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่มีความงามเป็นเลิศทั่วทั้งเมืองล้านนาก็ว่าได้ (ไม่มีภาพมาฝาก เพราะทางวัดปิดประตูพระวิหาร)
ถัดมาด้านหน้าขึ้นมาจากพระวิหาร จะเป็นพระอุโบสถ มีหลักศิลาจารึกที่มีลักษณะใบเสมา ทำจากหินทรายสีเทาขนาดกว้าง 42 ซม. หนา 15 ซม. สูงประมาณ 75 ซม. เดิมทีไม่ทราบว่าตั้งอยู่ที่ใด ปัจจุบันทางวัดนำมาตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ จารึกด้วยภาษาล้านนาโบราณแต่จารึกไม่จบความ และใกล้ๆกันตรงด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นสถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อพระครูสังฆกิจวิรุฬห์ (สิงห์คำ ธมฺมทินฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดป้านปิง และ อดีตเจ้าคณะตำบลศรีภูมิเขต 2
สุดท้ายและท้ายสุด เป็นหอไตร แห่งวัดป้านปิง ที่ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยใด แต่พอมีประวัติว่า ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งสุดท้ายในสมัย พระครูสังฆกิจวิรุฬห์ อดีตเจ้าอาวาสวัดป้านปิงในช่วง พ.ศ.2470-2536
ใครยังไม่เคยแวะไปเยี่ยมชมวัดแห่งนี้ ก็ลองหาโอกาสไปซักครั้งดู เพราะสถาปัตยกรรมหลายๆ นับว่าสวยงามกันเลยทีเดียวครับ