ระหว่างกำลังยืนเขียนชื่อ ในใบลงทะเบียนผู้เข้าเยี่ยมชม คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ในใจก็เกิดนึกสนุก ลงชื่อตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ ตามชาวบ้านที่มาลงก่อนหน้านี้ (มีแต่ฝรั่งครับ) ดังประโยคด้านล่าง
“Ryan Giggs”
นี่ไม่ใช่ วีรกรรมครั้งแรกที่ทำ แต่น่าจะหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว ยิ่งตอนยุคกระโปรงบานขาสั้น มาเรียนสายทีไหร่ ชื่อดาราไทย หรือนักฟุตบอลคนไหนเท่ๆ ผมเคยเขียนกรอกใส่ใบบันทึกของฝ่ายปกครองมาหมดแล้ว
จากนั้นถึงวันนี้ เวลาต่าง ความหมายเปลี่ยน ผมเขียนอีกรอบในฐานะเอาฮา และไม่ได้มีเจตนาหนีความผิด เหมือนตอนสมัยหัวเกรียน
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์ ณ เชียงใหม่) สถานที่ที่ใครหลายคนคงไม่ค่อยรู้จัก ทั้งๆที่มันตั้งอยู่กลางเวียง บนถนนพระปกเกล้า ด้านที่ตัดกับถนนราชดำเนิน หากันได้ง่ายและสะดวกสุดๆ สถานที่แห่งนี้ ถือเป็นคุ้มเจ้านายฝ่ายเหนือเพียงไม่กี่แห่ง ที่ยังเหลืออยู่ในเมืองเชียงใหม่
อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หรือบางท่านเรียกว่า คุ้มกลางเวียง เดิมเป็นของ เจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ หลานของเจ้าหลวงคำฝั้น (เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่3) สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2432-2436 ต่อมาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชายเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ได้รับมรดกและเป็นผู้ครอบครองอาคารในระหว่างปี พ.ศ. 2437-2489
ต่อมา นางบัวผัน นิกรพันธ์ (ทิพยมณฑล) ได้ซื้อต่อจากเจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ (ภริยาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่) และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงญาติคนปัจจุบัน คือคุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล (บุตรีนางบัวผันและเป็นน้าสาว ของอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร) โดย วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 ตระกูลกิติบุตรและทิพยมณฑล ได้มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม จัดเก็บจัดแสดงและศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ความรู้แก่นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค ภายใต้การดูแล และดำเนินงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรม ของอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ นั้น เป็นตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างลักษณะพื้นถิ่น และอิทธิพลตะวันตกอย่างลงตัว เป็นอาคารสองชั้น หลังคาทรงมะนิลา มีระเบียงโดยรอบ เป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกที่สร้างในเมืองเชียงใหม่ยุคแรก อีกทั้งยังแสดงออกถึงอิทธิพลของการก่ออิฐ การแปรรูปไม้ เทคนิคการเข้าไม้ที่เข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและสังคมของเมืองเชียงใหม่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5
ตัวอาคารเป็นเรือนครึ่งปูนครึ่งไม้สองชั้น บันไดอยู่ด้านนอก ชั้นล่างก่ออิฐหนาเป็นรูปโค้ง (Arch) ฉาบปูนเป็นระเบียงโดยรอบ ชั้นบนเป็นพื้นไม้สักมีระเบียงโดยรอบ หลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องดินขอคลุมระเบียงโดยรอบ ปัจจุบันตัวอาคารยังอยู่ในสภาพดี แสดงถึงวิทยาการการก่อสร้างที่แข็งแรงคงทนในอดีต อย่างไรก็ตามทางคณะฯ เห็นว่าต้องมีการซ่อมแซมเพื่อให้อาคารมีความคงทนถาวรและพร้อมที่จะใช้งานต่อไป ซึ่งในขณะนี้ คณะฯ ได้เริ่มจัดทำแผนการอนุรักษ์แบบการสงวนรักษา
นอกจากการมาเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมดังกล่าวของตัวอาคารแล้ว ทุกๆเดือนของที่นี้ จะมีการจัดแสดงผลงานศิลปะให้ได้ชมกันบนชั้นสอง
ใครหลงใหล รักใคร่ ชื่นชมกับงานศิลปะแบบนี้ เหมาะเป็นอย่างดีเลยครับ ที่คุณจะแวะมาเยี่ยมชมผลงานให้จิตใจมันเบิกบานกันไปซักครั้ง