นอกจากวัดเจดีย์หลวง จะเป็นวัดแห่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ในวัดแห่งนี้ก็ยังมี เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมือง เมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้จะวางตัวอยู่ตรงหน้าวัดเจดีย์หลวง โดยจะประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในเดือนพฤษภาคมจะมีงานประเพณีบูชาอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง
เดิมทีเสาอินทขิลประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิล ซึ่งตั้งอยู่ ณ กลางเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันก็คือ บริเวณหอประชุมติโลกราช ข้างศาลากลางจังหวัดเก่า ในตำนานกล่าวว่า เสาอินทขิลเดิมนั้นหล่อด้วยโลหะ จนกระทั่งสมัยพระเจ้ากาวิละ ราวปี พ.ศ. 2343 ได้ย้ายเสาอินทขิลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง โดยบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นเสาปูน และทำพิธีบวงสรวงเป็นประเพณีสืบกันมา ปัจจุบันนี้เสาอินทขิลที่อยู่ในวิหาร เป็นเสาปูนปั้นติดกระจกสี บนเสาเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง เสาอินทขิลนี้สูง 1.30 เมตร วัดรอบได้ 67 เมตร แท่นพระสูง 0.97 เมตร วัดโดยรอบได้ 3.40 เมตร
ในทุกๆ ปี ชาวเชียงใหม่จะทำพิธีบูชาอินทขิล ซึ่งทำขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองรวมทั้งผู้ที่ทำเกี่ยวกับเกษตรโดยการเพาะปลูก โดยงานดังกล่าวจะมีการอัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่า อันเป็นพระพุทธรูปที่บันดาลให้ฝนตกมาเป็นประธานในขบวนแห่ และมีการสวดคาถาอินทขิลของหมู่สงฆ์ด้วย
ทั้งนี้ ประเพณีดงกล่าว จะจัดขึ้นตอนปลายเดือน 8 ต่อเดือน 9 หรือระหว่างเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน โดยเริ่มในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า วันเข้าอินทขิล การเข้าอินทขิลจะมีไปจนถึงในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งเป็นวันออกอินทขิล จึงเรียกว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก โดยในวันเริ่มพิธี ชาวบ้านทั้งคนแก่ หนุ่มสาว จะพากันนำเอาดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยใส่พาน หรือภาชนะ ไปทำการ สระสรงสักการบูชา
ส่วนกิจกรรมในประเพณีเข้าอินทขิล พิธีบูชาเสาอินทขิล พิธีนี้กระทำโดยการจุดธูปเทียนบูชาอินทขิลกับรูปกุมภัณฑ์และฤาษี ทั้งนี้เพื่อให้บ้านเมืองอยู่อย่างสงบสุข ก่อนวิหารอินทขิลจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปสักการบูชาตั้งแต่เช้า ซึ่งจะต้องทำพิธีพลีกรรมเครื่องบูชาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบูชาอินทขิล, การบูชาต้นยางหลวง ในวัดเจดีย์หลวง, การบูชาช้าง 8 ตัว ที่พระเจดีย์หลวง, พิธีใส่ขันดอก, การใส่บาตร, พระประจำวันเกิด, พิธีสรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า และพิธีสืบชะตาเมือง
เสาอินทขิล เป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ มาตั้งแต่ช้านาน ทั้งยังเป็นที่เคารพสักการะอันสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่รวมวิญญาณของชาวเมือง และบรรพบุรุษในอดีต ซึ่งหากใครมีโอกาสได้ร่วมในงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลซักครั้ง ก็จักเป็นสิริมงคลแก่ตนเองอย่างยิ่ง