“คัวตอง” แห่งวัดพวกแต้ม

C360_2013-10-13-14-02-46-782

ถ้าวัดหมื่นสาร วัดศรีสุพรรณ มีช่างทำเครื่องเงินอันขึ้นชื่อ ที่วัดพวกแต้มก็คงไม่น้อยหน้าเหมือนๆกัน กับช่างฝีมือทางด้านการทำฉัตร

ผลงานสร้างชื่อทั้งจากพระธาตุดอยสุเทพ พระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ พระเจดีย์องค์เล็กทั้งสองแห่งวัดเจดีย์หลวง พระธาตุวัดเชียงมั่น และอีกหลายๆ วัดในภาคเหนือ คือหลักฐานชิ้นสำคัญบ่งบอกถึงความยอดเยี่ยมฝีมือทางด้านนี้

C360_2013-10-13-14-07-31-880

C360_2013-10-13-14-03-14-096

แต่ก่อนที่จะมีผลงานดังกล่าว ทุกอย่างเริ่มจากวัดพวกแต้ม สถานที่บ่มเพาะฝีมือช่างตั้งแต่ในสมัยก่อน ซึ่งจากประวัติวัดพวกแต้ม ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ปรากฏจากหลักฐานที่ค้นพบ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2026 โดยชื่อวัดทำให้สันนิษฐานถึงผู้สร้างได้อีก ซึ่งคำว่า “พวก” หมายถึง หัวหน้าหมู่บ้าน เป็นขุนนางยศต่ำ ดังนั้น พวกแต้มคงเป็นขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมทางด้านช่าง โดยเฉพาะด้านการเขียนภาพจิตรกรรม การลงรักปิดทอง  ดังเช่นวิหารหลังหนึ่งในวัดพระธาตุลำปางหลวง เรียกวิหารน้ำแต้ม

C360_2013-10-13-13-53-51-522

C360_2013-10-13-13-58-57-924

จากนั้นในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนผู้คนจากหลายที่มารวมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีสล่าเครื่องโลหะมาด้วย  จึงทำให้นักวิชาการทางด้านวัฒนธรรมสันนิษฐานว่า “คัวตอง” ต้นกำเนิดแห่งช่างฝีมือด้านโลหะ น่าจะก่อกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ ในวัดพวกแต้ม

C360_2013-10-13-13-56-14-401

ข้อสันนิษฐานเพิ่มบ่งบอกว่า สล่าที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยนั้น ได้ทำการหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่านถนนช่างหล่อ ใกล้ๆ กับวัดพวกแต้ม โดยมีการพบว่าฉัตรรุ่นแรกที่มีการทำขึ้นในวัดพวกแต้มนั้น ก็ทำขึ้นจากสำริดเช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่าการหล่อแผ่นสำริด น่าจะมาจากย่านช่างหล่อ ก่อนจะส่งต่อมาให้สล่าในวัดพวกแต้มตอกขึ้นรูปเป็นฉัตรอีกทีนึง

C360_2013-10-13-14-02-46-782

C360_2013-10-13-14-01-02-682

ที่เหลือจากนั้น ท่านพระครูรัตนปัญญา อดีตเจ้าอาวาสวัดพวกแต้ม ในฐานะที่มีความสามารถทางศิลปะหลายด้าน ก็ได้ทำการรวบรวมสล่าฝีมือดีมาไว้ในวัดพวกแต้ม ก่อนจะร่วมมือกับครูบาศรีวิชัยในการสร้างฉัตร ซ่อมแซมฉัตรตกแต่งลวดลายตามวัดวาอารามต่างๆ จนถึงขั้นก่อตั้งสมาคมสล่าขึ้นในนาม “คัวตอง”

C360_2013-10-13-13-59-51-640

จากการสืบสานงานทำฉัตรและศิลปะอื่นๆ มาโดยตลอดของทางวัด ปัจจุบันวัดพวกแต้ม เป็นชุมชนช่างทำฉัตรพวกแต้ม อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งมีผลงานฉัตรปรากฏทั่วไปหลายที่ (อย่างที่เกริ่นไปแต่แรก)

C360_2013-10-13-14-01-55-063

C360_2013-10-13-14-01-27-122

ฉัตรของวัดพวกแต้ม จะมี 2 แบบด้วยกัน คือแบบแรก เป็นแบบพื้นเมืองของล้านนา มีเอกลักษณ์อยู่ที่ลวดลายที่หยาบและใหญ่ประดับอยู่ระหว่างชั้น มีชื่อลายหลากหลาย โดยส่วนประกอบหลักๆ ของฉัตรพื้นเมือง ได้แก่ กระจัง ดอกคอ และกาบ

C360_2013-10-13-13-57-18-735

ส่วนแบบที่สอง เป็นแบบประยุกต์ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและพม่าเงี้ยว โดยกระจังจะยื่นออกมาเหมือนมือที่ฟ้อนหงายนิ้วงอโค้งออกมา เรียกว่า “ลายฟ้อน” ส่วนปลายดูอ่อนช้อย ส่วนกาบจะยกสันขึ้น ทำให้ดูมีเหลี่ยมเงาได้สัดส่วน

C360_2013-10-13-14-05-43-255

นอกจากการทำฉัตร ก็ยังมีงานหัตถศิลป์ ที่ถูกรวมไว้ในคัวตองของวัดพวกแต้มอีกด้วย ซึ่งผลงานทั้งหมดนั้น ก็ยังอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะล้านนา ที่ได้รับการสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ถือได้ว่าผลงานดังกล่าว เป็นสมบัติทางด้านวัฒนธรรมอันล้ำค่าของล้านนาที่ควรช่วยกันสนับสนุน และสืบสานต่อไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน