ว่าด้วยเรื่องของ “กำแพงดิน” เชียงใหม่

C360_2013-10-17-15-59-02-629

ถ้าพูดถึงกำแพงดิน ชาวบ้านที่เพิ่งเคยมาเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงไก่ทอดเที่ยงคืน แถวย่านกำแพงดิน ที่ดึกๆ มาขาเมาทั้งหลาย ต่างพากันเข้าคิวรอซื้ออย่างแน่นขนัด

แล้วถ้าเป็นชาวบ้านในย่านนั้นล่ะ “กำแพงดิน” ในความหมายพวกเขาคืออะไร? มีอะไรสำคัญกว่าร้านไก่ทอดเที่ยงคืน

ว่ากันตามข้อมูลทางภูมิศาสตร์ กำแพงดิน เป็นกำแพงเมืองชั้นนอกของเมืองเชียงใหม่ มีจุดเริ่มต้นที่แจ่งศรีภูมิ คือมุมกำแพงเมืองชั้นใน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเลื้อยยาวลงมาทางใต้ อ้อมวกขึ้นไปบรรจบกับมุมกำแพงเมืองชั้นใน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่เรียกว่า แจ่งกู่เฮือง โดยคาดว่ากำแพงนี้น่าจะสร้างขึ้นพร้อมๆ กับกำแพงเมืองชั้นในเมื่อ 715 ปีที่แล้ว

wall007เครดิตภาพ http://www.oknation.net/blog/akom/2011/02/20/entry-1

บิดเข็มนาฬิกากลับไปในสมัยก่อน จากบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนเรื่อง “กำแพงดิน” ย่านซ่องเมืองเชียงใหม่ จากปลายปากกาของ สุจิตต์ วงศ์เทศ บอกเล่าใจความไว้คร่าวๆ ว่า “กำแพงดิน” รู้กันทั่วไป ว่าเป็นชื่อเรียกย่านซ่องโสเภณีราคาถูกของเมืองเชียงใหม่ที่มีมานานก่อน พ.ศ. 2500 และถึงทุกวันนี้ กำแพงดินยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงสัญลักษณ์คู่เมืองในอุดมคติ“ความเป็นไทย” ของสาวเครือฟ้า ที่เรียกชื่อว่า “กำแพงดิน” เพราะเป็นบริเวณมีกำแพงเมืองเชียงใหม่ก่อคันดินเป็นแนวเนินลักษณะดั้งเดิมเก่าแก่ ตั้งแต่ยุคแรกสถาปนาเมื่อ พ.ศ. 1839 โดยพญามังราย

BS-CM-GT018bเครดิตภาพ http://www.oknation.net/blog/akom/2011/02/20/entry-1

ก่อนจะบอกกล่าวย้ำอีกดอกด้วยว่า กำแพงอิฐที่มีผังสี่เหลี่ยมของเชียงใหม่นั้น เพิ่งก่อขึ้นสมัยหลังกำแพงดิน โดยกำแพงอิฐเมืองเชียงใหม่บางส่วนที่เห็นซากประตู, กำแพง, ป้อม ไม่ใช่กำแพงเมืองยุคพญามังราย เพราะถ้ากำแพงยุคพญามังรายแท้ๆ ต้องเป็นกำแพงดินเท่านั้น

ส่วนเรื่องราวของย่านโสเภณีสมัยก่อนของกำแพงดิน จาก พ.ต.ท.อนุ เนินหาด ในบทความเรื่อง "กำแพงดิน" ตำนานบ้านสาวของเมืองเชียงใหม่ ใจความสำคัญมีอยู่ว่า ในสมัยก่อน ส่วนหนึ่งของกำแพงดินถูกเจาะเป็นซ่อง และสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย บ้านสาวย่านกำแพงดินยุคแรกนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง คือประมาณปี พ.ศ.2489

C360_2013-10-17-16-00-33-620

คนรุ่นเก่าๆ บอกว่า "บ้านสาว" ของกำแพงดินยุคแรกมีเฉพาะด้านใกล้สี่แยกกำแพงดิน คือเลี้ยวซ้ายจากถนนท่าแพ สมัยนั้นมีโรงหนังตงก๊ก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงหนังศรีวิศาล ด้านหลังโรงหนังศรีวิศาลมี "บ้านสาว" อยู่ประมาณ 20 หลัง เป็นที่นิยมเที่ยวกันมากของชายหนุ่มกลัดมัน

C360_2013-10-17-16-00-03-365

โดย  "บ้านสาว" ดังกล่าวมีเฉพาะด้านที่เป็นกำแพงดินเรื่อยไปจนเกือบถึงหน้าวัดช่างฆ้อง ลักษณะมีบ้านจะอยู่ด้านในกำแพงดิน โดยแต่ละบ้านเจาะกำแพงดินเป็นประตูทางเข้าบ้าน ราคาค่าบริการ ขณะนั้น 3 บาท และ 5 บาท ก่อนต่อมา "บ้านสาว" ย่านนี้ก็เลิกกิจการไป คาดว่าหลังจากโรงหนังศรีวิศาลเลิกแล้ว และ "บ้านสาว" เปลี่ยนไปอยู่ย่านตรงข้ามโรงแรมแม่ปิงในปัจจุบันแทน

C360_2013-10-17-15-59-11-276

ในช่วงที่ "บ้านสาว" ย่านกำแพงดินเฟื่องฟู ประมาณหลังปี พ.ศ.2500 เล็กน้อย ว่ากันว่ามีบ้านสาวประมาณถึง 100 บ้าน แยกเป็นย่านกำแพงดินด้านเหนือ คือ ที่บริเวณพื้นที่เดิมของโรงแรมแม่ปิง และฝั่งตรงข้ามประมาณ 50 บ้าน และย่านกำแพงดินด้านใต้ ประมาณ 50  บ้าน โดยในช่วงดังกล่าวอาจพูดได้ว่า "บ้านสาว" ย่านกำแพงดินเป็น "บ้านสาว" ยุคที่สองของเมืองเชียงใหม่ โดยเกิดขึ้นและหนาแน่นเมื่อประมาณหลังปี พ.ศ.2504 และสิ้นสุดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 เมื่อทางรัฐบาลมีนโยบายให้จับกุมจริง และส่งไปสถานสงเคราะห์ฝึกอาชีพหญิงที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

C360_2013-10-17-16-01-24-534

ณ ปัจจุบัน สภาพกำแพงดินบางส่วนก็ผุพังไปตามกาลเวลา บางที่ถูกรื้อเพื่อทำถนนและปลูกบ้านเรือนอาศัยจนไม่เหลือร่องรอยเดิมให้เห็น ส่วนปัญหาของผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวก็คงหนีไม่พ้น เรื่องบุกรุกครอบครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งอันนี้ก็ต้องปล่อยให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องไปแก้ไขปัญหากันเอา

“การเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์” ประโยคนี้ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ และบางทีการจะอนุรักษ์อะไรเอาไว้ซักอย่าง เหตุผลเรื่องความทันสมัยและการพัฒนา มักจะถูกหยิบยกเอามาอ้างอยู่ตลอด