เรือนโบราณล้านนา 140 ปี

C360_2013-10-07-13-14-11-611

หลายวันก่อน เพิ่งไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณกันมาครับ ซึ่งที่นั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นศูนย์รวมเรือนโบราณในสมัยเก่าหลากหลายแบบไว้ให้ลูกหลานดู ส่วนใหญ่เรือนโบราณที่แสดงก็มีทั้งได้รับบริจาค และมีคนขายให้กับทางพิพิธภัณฑ์ก่อนจะถูกอัญเชิญมารวมไว้ที่นี้

ถ้าจำไม่ผิด (ถ้าผิดก็กลับไปหาอ่านดูรีวิวในเว็บ เพราะมีให้อ่านครับ) น่าจะมีถึง 8 – 9 แบบด้วยกันที่อวดตัวโชว์อยู่ในนั้น ส่วนข้อมูลรายละเอียดของเรือนแต่ละหลังก็จะมีประจำการไว้เป็นจุดๆ ของใครของมัน ทั้งแบบแผ่นจารึก (จารึกจริงๆ นะ) และแผ่นข้อมูลเคลือบพลาสติกแข็งอย่างดีเสียบไว้บนเรือน

ข้อมูลเยี่ยม แต่ที่ไม่ค่อยเยี่ยมเท่าไหร่ คือผมไม่รู้ว่าบางหลังเราขึ้นไปบนเรือนได้มั้ย เพราะพอถามเจ้าหน้าที่แถวนั้น (มาใหม่ซะด้วย) ดันบอกว่า “ผมไม่ทราบครับ”

สิ้นเสียงประโยคนี้ ผมกลับไปไม่เป็น แต่ไหนๆ มาแล้ว ตูก็ขอขึ้นเรือนเลยล่ะกัน ถ้ามีคนอื่นมาไล่ค่อยลงไปก็ได้ (จริงๆ บนเรือนมีกล้องวงจรปิดนะ)

สุดท้ายไม่มีฝ่ายไหนซีเรียส อีกอย่างผมก็ได้ข้อมูลมาแบบครบถ้วนแล้ว ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องดิ้นรนทำอะไรให้ลำบาก

ให้หลังจากนั้นต่อมา  4 – 5 วัน  อยู่ดีๆ ผมก็นึกได้ว่า เฮ้ย แถวๆ สะพานเหล็กมันมีเรือนโบราณอีกที่ว่ะ จำได้ว่าเคยเห็นเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วตอนงานยี่เป็ง ซึ่งจังหวะวันที่นึกออกนั้นว่างพอดี เลยถือโอกาสโฉบแวะไปดูซักหน่อย

C360_2013-10-07-13-18-00-207

ไปถึงปรากฏว่า เขาปิดประตูไม่ให้เขาไปครับ แถมแถวๆ นั้น ก็ไม่มีใครให้สอบถามว่าตูเข้าไปได้มั้ย ไอ้ครั้นจะถือวิสาสะบุกเข้าไปเลย มันก็กระไรอยู่ สุดท้ายเลยได้แต่เก็บภาพแต่บริเวณด้านนอกรั้วเอา (อารมณ์เหมือนน้องหมาอยากกินปลากระป๋องเลย แต่ไม่มีปัญญาเปิด)

C360_2013-10-07-13-16-34-721

เรือนโบราณแห่งนี้ มีอายุกว่า 140 ปี ครับ ถ้าเป็นคนก็คงแก่หงำเหงือกนั่งคุยกับรากมะม่วง  บริเวณหน้าบ้านมีต้นจามจุรีต้นใหญ่คอยให้ร่มเงา ตัวบ้านเป็นลักษณะบ้านแบบล้านนา หลังคาทรงจั่ว ไม่สูงนัก สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เสาบ้านทำด้วยไม้สัก มีกาแลหรือไม้ที่มีลักษณะไขว้กันประดับอยู่ตรงยอดจั่วหลังคาบ้าน อันเป็นเอกลักษณ์ ของบ้านล้านนา ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา หรือที่ชาวล้านนาเรียก “ดินขอ”

C360_2013-10-07-13-16-05-408

C360_2013-10-07-13-14-47-501

สำหรับบริเวณที่เป็นครัว จะสังเกตเห็นร้านน้ำ หรือ “ฮ้านน้ำ” อันเป็นที่สำหรับตั้งหม้อดิน ภาชนะที่นิยมใช้ใส่น้ำกิน บริเวณด้านหลังบ้านติดกับแม่น้ำปิง สามารถมองเห็นสะพานเหล็กหรือสะพานดำได้ ซึ่งเป็นสะพานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อจำลองแบบสะพานนวรัฐในอดีต

อย่างที่บอกไปแต่แรกครับ ปัญหาของการมาเยี่ยมชมที่นี้ คือเราไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ และอนุญาตให้เข้าไปชมได้หรือไม่ ฉะนั้นแล้วใครสนใจไปดู ก็ตามนั้นครับ ดูรอบๆ แถวนั้นเอา หรือถ้ามียามก็ลองสอบถามดู เพราะเห็นมีป้อมยามตั้งอยู่ด้านใน

C360_2013-10-07-13-15-21-385

คิดไปคิดมา ก็ให้นึกเล่นๆ ว่าเจอเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณว่าหนักแล้ว แต่มาเจอเรือนโบราณ 140 ปี ติดริมแม่น้ำปิง ใกล้สะพานเหล็กตอนมาชม อันนี้หนักกว่าเท่าตัว เพราะไม่มีข้อมูลอะไรและใครให้สอบถาม

แต่ในความไม่มีอะไร สุดท้ายผมก็ยังหาข้อมูลมาเล่าให้คุณๆ ฟังได้จนจบเรื่องได้ ชนิดที่ว่ากว่าจะค้นเจอ เลือดตาก็แทบกระเด็น