ลองมองย้อนกลับไปสมัยกระโปรงบานขาสั้นของตัวเองแล้วก็ให้นึกขำ ไปสอบเอนทรานซ์วงกลมเป้าหมายไว้เป็นเอกจิตรกรรม ด้วยความที่ไม่มีพรสวรรค์ทางด้านนี้ แต่พอจะมีพรแสวงอยู่บ้างจากความชอบวาดการ์ตูนแต่เด็ก ผลคะแนนที่ออกมาแม้จะไม่ได้บอกศักยภาพด้านนี้ทั้งหมด แต่ก็พอจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าตัวเองไม่เหมาะและไม่ผ่าน
คะแนนเต็ม 200 ได้ไปแค่ 25 ขยี้ตาซ้ำอีกรอบ คาดว่าคะแนนที่ได้น่าจะเป็นค่าดินสอ ยางลบ และสี
เพื่อนในรุ่นนั้นสะกิดไหล่ปลอบประโลมบอก “ดีแล้วที่เขาให้ค่าสีมึง”
ส่วนอีกคนที่ได้ดีจนเป็นครูสอนดนตรีหล่นประโยคเท่ๆ ไว้ “ตอนสอบมึงไม่ต้องทำอะไร หยิบแค่ นสพ.สตาร์ซอคเก้อร์มาอ่านโชว์ พร้อมเหน็บดินสอ 2B ไว้ที่หู แค่นี้คู่แข่งเอ็งก็กลัวซะขี้หดตดหายแล้ว”
โถ แต่ละคน ช่างเป็นเพื่อนที่แสนดียิ่งนัก แต่ไม่เป็นไร ไหนๆ มันไม่ใช่แนว ก็คงไม่แคล้วตรงปรับเปลี่ยนหันเป้าไปทางอื่น และดูเหมือนว่าการตัดสินใจตอนนั้น ตัวเองจะเลือกเส้นทางที่ถูกที่ควรอันเหมาะสมแล้ว ณ ตอนนี้
เย็นในวันพ่อแห่งชาติ ของชาติไทย เป็นธรรมดาของวันหยุดที่ครอบครัวไหนคุณพ่อกับคุณลูกมีโอกาสอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ก็พากันออกไปทำกิจกรรมกันนอกบ้าน ดูหนัง กินข้าว อะไรก็ว่ากันไป ส่วนผมพาตูดเหี่ยวๆ ตัวเองมาเพ่นพ่านแถวข่วงประตูท่าแพเพื่อเสพย์งานศิลป์แขนงหนึ่ง
Graffiti ศิลปะที่เกิดจากการขีดเขียนไปบนผนัง หรือที่รู้จักกันทั่วไปในลักษณะของการพ่น ที่มีจุดกำเนิดเริ่มต้นจากเมืองฟิลาเดลเฟีย ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ก่อนจะแพร่หลายในนิวยอร์ก ช่วงยุคคริสต์ทศวรรษที่ 60
ศิลปะแขนงนี้ถ้าเป็นในเมืองไทย ส่วนใหญ่ชาวบ้านก็มักจะเสพย์งานแบบไม่ได้ตั้งใจตามผนังกำแพง หรือตามตึกร้าง (บนรถยนต์ไม่ขอนับ เพราะที่โดนคาดว่าคงถูกเหม็นขี้หน้าด้วยข้อหาบางประการ ฮ่าๆๆ) ซึ่งไอ้เราก็ไม่รู้หรอกว่าคนพ่นได้รับอนุญาตให้จัดการละเลงฝีมือหรือไม่ แต่ตามความคิดของคนนอกวงการก็คงต้องมองว่ามันช่างเลอะเทอะ และทำให้ดูรกหูรกตา ไหนจะเป็นการแสดงออกในทางต่อต้านสังคม จากลักษณะภาพ หรือข้อความที่เขียนลงไป
มุมมองแบบนี้ ต่อให้คนทำเป็นมือสมัครเล่นหรือเป็นมืออาชีพ การปล่อยของในที่ถูกที่ควรต้องเก็บมาคิด พูดๆ ง่ายก็คือต้องมีเวทีให้พวกเขาได้แสดงความสามารถ
ไอ้หนูคนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับม็อบที่ไหน
Street Wall For ๑ กิจกรรมเปิดโอกาสให้ได้ “ปล่อยของ” ของเหล่าศิลปิน Street Art เชียงใหม่ กับกิจกรรมการสร้างสรรค์งานศิลปะ พ่น เพ้นท์ กำแพง ผสมสื่อผสม เพื่อเป็นการแสดงถึงความรัก ความภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของเชียงใหม่ผ่านงาน Street Art ให้ชาวบ้านได้รับรู้ โดยรายได้จากการขายของที่ระทึก เอ้ย ของที่ระลึก และประมูลงานศิลปะของทั้ง 9 ศิลปิน ภายในงานจะมอบให้กับมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์
เท่าที่ไปสังเกตการณ์เมื่อช่วงเย็น หลังจากงานเริ่มมาตั้งแต่สามโมงเช้า ผลงานดูเหมือนว่ายังจะไม่เสร็จสมบูรณ์กันครบถ้วนซักเท่าไหร่ จากทั้งหมด 9 ชิ้น 9 แบบ ที่น่าจะเสร็จสมบูรณ์ไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วก็น่าจะครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็คงเร่งมือให้เสร็จกันก่อนจะมืดค่ำเป็นแน่แท้
ลักษณะของภาพส่วนใหญ่ก็จะเน้นสื่อไปในทางแสดงความรัก ความภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นแหละครับ จากฝีมือ 9 ศิลปิน ความแตกต่างไม่ค่อยหนีกันมาก และจากการเดินทอดน่องชม ผมเลือกจิ้มให้ภาพนี้ (ด้านล่าง) ชนะเลิศสำหรับตัวเอง เพราะด้วยสีสันที่ฉูดฉาดในโทนแลดูอบอุ่น มีดอกพุทธรักษาเป็นตัวสื่อถึงวันพ่อเป็นอย่างดี และปรากฏมีรูปหัวใจดวงโตๆ ที่ถูกล้อมรอบด้วยธงชาติไทย อันแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นวันพ่อของชนชาวสยามอย่างชัดเจน
ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่น่าสนใจสำหรับคนหลงใหลในศิลปะแขนงนี้ ที่มีโอกาสได้เสพย์งานศิลป์ที่ตัวเองชอบ มากกว่าที่จะไปเสพย์กันเอาตามตึกร้าง และกำแพงชาวบ้านที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขีดเขียน
เป็นไปได้ในอนาคต บ้านซักหลังจากน้ำพักน้ำแรงตัวเอง ผมอาจจัดการละเลงศิลปะแขนงนี้ลงบนผนังบ้านก็เป็นได้