นิทรรศการ “อะไรอยู่ในเส้น”

C360_2013-12-22-16-08-26-745

เป็นความบังเอิญที่แรกเริ่มกะจะไปดูหนังสือที่ TCDC แต่ก่อนถึงชั้นสองเลยแว่บมาดูนิทรรศการอยู่ชั้นล่าง

วงกลมสีเหลืองมีตัวหนังสือสีดำตัดตัวโตๆ บอกใบ้ชื่องานว่า “อะไรอยู่ในเส้น”

แว่บแรกในหัวมันต้องเกี่ยวกับของกินอะไรที่เป็นเส้นๆ แน่นอน แหงล่ะ บอกกันมาโต้งๆ ซะขนาดนี้ จะให้หนีไปเรื่องอย่างอื่นก็คงไม่ใช่

C360_2013-12-22-16-19-26-633

นิทรรศการ “อะไรอยู่ในเส้น” เป็นนิทรรศการที่สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการพลิกแพลงวัตถุดิบท้องถิ่น และทางเลือกในการเติมพลังงานแต่ละมื้อให้ตอบรับกับลิ้นและรสนิยมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวอาหารประเภทเส้นที่ต้องผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่การพัฒนาเทคนิคการทำ การออกแบบอุปกรณ์และเครื่องมือในการผลิต การคำนวณอัตราส่วนที่ลงตัวของส่วนผสม การคัดเลือกเครื่องปรุงเพื่อเพิ่มมูลค่า ความเข้าใจกระแสความนิยมของผู้บริโภค และการค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงสินค้า ผ่านตัวอย่างผลผลิตเส้นจาก 4 ประเทศผู้นำด้านอาหารเส้น ได้แก่ จีน อิตาลี ญี่ปุ่น และไทย

ภายในห้องจัดแสดงชั้นล่างของ TCDC มีรายละเอียดของนิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

C360_2013-12-22-16-00-17-079

4,000 ปีแห่งประวัติศาสตร์การทําเส้นบะหมี่จีน

ร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์เส้นทางกำเนิดบะหมี่ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกซึ่งถูกค้นพบ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเหลืองของจีน ตลอดจนเทคนิคการดึงแป้งเป็นเส้นด้วยมือที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การันตีด้วยสถิติระดับโลกจาก กินเนสบุ๊ค เวิร์ลออฟ เรคคอร์ด ที่ได้บันทึกสถิติของชายจีนผู้สามารถดึงเส้นหมี่ได้บางเสียจนร้อยใส่รูเข็มได้ถึง 38 เส้น

C360_2013-12-22-16-01-16-696

C360_2013-12-22-16-11-58-849

พาสต้า งานออกแบบอุตสาหกรรมและศิลปะการปรุงอาหารของท้องถิ่น

พาสต้ากว่า 400 ชนิดซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันถึง 4,000 ชื่อ ส่งให้อิตาลีเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อในตำรับอาหารเส้นเป็นพิเศษ ร่วมค้นหาสาเหตุจากความหลากหลายของพาสต้าที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปรุงอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละแคว้น จนทำให้มีพาสต้าที่มีผิวสัมผัสและรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้สอดรับกับรสชาติ รสสัมผัส และตํารับน้ำซอสตามความชอบของคนแต่ละถิ่น อุตสาหกรรมพาสต้าอิตาเลียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคเพื่อพัฒนาให้ได้พาสต้าที่ต่างรูปทรงและรสสัมผัส เพื่อตอบสนองรสนิยมที่เปลี่ยนไป

C360_2013-12-22-16-12-13-614

C360_2013-12-22-16-07-54-133

อูด้งต้นตํารับ และการแสวงหาความดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น

กูไก พระชาวญี่ปุ่นผู้นําศาสนาพุทธ นิกายชินกอน มาเผยแผ่ในประเทศญี่ปุ่นได้ถ่ายทอดความรู้การทำเส้นสู่บ้านเกิดที่เมืองซานุกิ เกาะชิโกกุ หลังเดินทางกลับจากจีน จนมีคนทําเส้นอูด้งและร้านอูด้งขึ้นในเมืองนี้มากถึง 1,100 ร้าน ทำให้ศาสตราจารย์ ทาโอะ คาซูโตชิ เขียนหนังสือคู่มือกินอูด้ง (โอโซรุเบกิ ซานุกิ อูด้ง) แนะนําร้านอูด้งทั่วทั้งจังหวัดคากาวาขึ้นในปี ค.ศ. 1989 เพื่อแสดงถึงการรักษาเอกลักษณ์สูตรเฉพาะ และเทคนิคลับของแต่ละครัวเรือนที่ยาวนานกว่าร้อยปี เกิดเป็นกระแสทัวร์ตามกินอูด้งที่ซานุกิให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่โด่งดัง รวมถึงงานใหม่อย่างแท็กซี่อูด้งที่คนขับจะต้องรอบรู้เรื่องอูด้งเป็นอย่างดี

C360_2013-12-22-16-07-33-647

C360_2013-12-22-16-08-26-745

C360_2013-12-22-16-10-26-355

ปรุงอย่างสร้างสรรค์แบบชาวสยาม

สยามโบราณคือศูนย์กลางศิลปะการปรุงอาหารที่ได้รับอิทธิพลหลากหลาย อาหารเส้นของชาวสยามขึ้นกับเส้น 3 ชนิด คือ เส้นก๋วยเตี๋ยวจากข้าวเจ้า เส้นบะหมี่เหลืองจากไข่ และเส้นขนมจีนแป้งหมักของชาวมอญ พ่อครัวสยามนําเส้นทั้งสามทดลองร่วมกับซอส น้ำซุป และเครื่องเทศ เพื่อสร้างวัฒนธรรมอาหารเส้นที่ผสมผสานอย่างมีเอกลักษณ์ เส้นขนมจีนจากมอญอย่างเดียวสร้างแรงบันดาลใจให้กินคู่กับแกงของแต่ละภาคมากถึง 40 ชนิด ตั้งแต่น้ำเงี้ยวทางภาคเหนือ น้ำยาต่างๆ ของภาคกลาง สู่ตําซั่วของอีสาน นอกจากนี้ ความนิยมในอาหารอิตาเลียนตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ยังทําให้เกิดเมนูอย่างสปาเก็ตตี้ผัดขี้เมาและสปาเกตตี้แกงเขียวหวานที่ปรับรสเผ็ดให้เข้ากับลิ้นคนไทย กลายเป็นเมนูเส้นที่แสดงถึงอัจฉริยภาพของศิลปะการปรุงอาหารจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน

C360_2013-12-22-16-09-55-308

C360_2013-12-22-16-10-11-986

C360_2013-12-22-16-02-35-770

นวัตกรรมแห่งศตวรรษที่ 20 และวิถีชีวิตบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป

โมโมฟุกุ อันโดะ คือ ผู้ปฎิวัติวิถีการกินของคนทั่วโลกด้วยการคิดค้นบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป จากการสังเกตเห็นความต้องการของตลาดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้คนรอกินบะหมี่น้ำราเมนราคาถูกจนแถวยาวเหยียด อันโดะจึงนําวิธีการทอดเทมปุระมาใช้ทอดก้อนบะหมี่ให้พร้อมกินเพียงราดน้ำร้อน ปรับปรุงน้ำซุปด้วยเทคนิคอบแห้งเครื่องปรุงรสต่างๆ ให้สามารถเก็บใส่ซองปิดผนึกรักษาได้นานวัน ไปจนถึงการสร้างบรรจุภัณฑ์บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูปขึ้นใหม่ เพื่อตอบสนองกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปกลายเป็นสินค้าบริโภคสําคัญของศตวรรษที่ 21

C360_2013-12-22-16-11-34-148

C360_2013-12-22-16-03-26-448

นิทรรศการ “อะไรอยู่ในเส้น” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2256  – 2 มีนาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 10.30 -18.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) บริเวณชั้นล่างของ TCDC เชียงใหม่ ใครสนใจสามารถแวะไปชมกันได้

ถ้ารักกันจริง งานนี้ “เด็กเส้น” ไม่ควรพลาด