มีเพื่อนรู้จักคนหนึ่งจากต่างถิ่น โดนรุ่นพี่ที่ทำงานกำชับว่า ถ้ามาเชียงใหม่อย่าลืมไปวัดพระสิงห์ แถมการกำชับ ไม่กำชับธรรมดา แต่มันเป็นการกำชับที่ทรงพลังและหนักแน่นด้วยน้ำเสียง
“เอ็งต้องไปให้ได้”
ขอบอกอีกอย่างแกเน้นหนักวัดเดียวด้วย ส่วนวัดอื่นนิแล้วแต่เวรแต่กรรม ซึ่งหลังฟังเรื่องนี้จากเพื่อนคนดังกล่าวก็ได้แต่บอกว่า แหม จริงๆ บนถนนเส้นนั้น วัดอื่นๆ ก็มีให้ชมกัน น่าสนใจหลายที่นะ
ถนนเส้นที่ว่าคือถนนสามล้าน และจากการเอ่ยปากไปถึงตัวเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจจากจากวัดแม่หลักใหญ่ คือวัดพระสิงห์ ผมเลยเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางบอกไปว่า หลังจากออกวัดพระสิงห์ ต้องไปวัดนี้นะ แวะวัดนี้นะ ถ้ามาถนนเส้นนี้
สุดท้ายเลยได้มาเป็นทริปหนึ่งพอดี และจากการที่วัดพระสิงห์เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมากันบ่อย ผมเลยทำการต่อยอดให้สามารถเดินต่อไปยังวัดอื่นๆ ได้ ส่วนแต่ละวัดมีอะไรบ้างนั้น ตามผมมาได้เลย
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง" ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาเที่ยวเชียงใหม่มักไม่พลาดที่จะมากราบไหว้ พระพุทธสิหิงค์ ที่วัดแห่งนี้
วัดหมื่นเงินกอง
สร้างขึ้นในสมัยราชวงค์มังราย ในรัชกาลของท้าวสองแสนนา หรือพญากือนา โดย “หมื่นเงินกอง” เป็นชื่อของอำมาตย์ท่านหนึ่งในรัชกาลของพญากือนา สิ่งที่น่าสนใจมี พระวิหารทรงพื้นเมืองล้านนา มีลวดลายแกะสลักที่งดงาม อีกอย่างมีความเชื่อว่าหากใครมาไหว้พระทำบุญที่วัดแห่งนี้ จะมีเงินมีทองมาเก็บมากองเยอะๆ
วัดพวกหงษ์
เป็นวัดโบราณ ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2060 โดยขุนนางซึ่งเป็นหัวหน้าช่างในกลุ่ม "พวกหงษ์" ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ายอดเชียงราย ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา เมื่อปี พ.ศ. 2364 ภายในวัดโดดเด่นด้วยเจดีย์โบราณ คือ เจดีย์ศรีพวกหงส์ เป็นเจดีย์เก่าที่งดงาม ซึ่งพบได้เพียงสามวัดในเมืองเชียงใหม่ อันได้แก่วัดร่ำเปิง วัดเจดีย์ปล่อง และวัดพวกหงษ์ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยพระเจ้ายอดเชียงราย เป็นประธาน
วัดพวกแต้ม
วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของช่างฝีมือทางด้านการทำฉัตร ให้วัดต่างๆ ในภาคเหนือ โดยย่านนี้เป็นชุมชนช่างทำฉัตรพวกแต้ม อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ฉัตรของวัดพวกแต้ม จะมี 2 แบบด้วยกัน คือแบบแรก เป็นแบบพื้นเมืองของล้านนา มีเอกลักษณ์อยู่ที่ลวดลายที่หยาบและใหญ่ประดับอยู่ระหว่างชั้น มีชื่อลายหลากหลาย แบบที่สอง เป็นแบบประยุกต์เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและพม่าเงี้ยว ผลงานสร้างชื่อของช่างก็ได้แก่พระธาตุดอยสุเทพ พระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ พระเจดีย์องค์เล็กทั้งสองแห่งวัดเจดีย์หลวง พระธาตุวัดเชียงมั่น และอีกหลายๆ วัดในภาคเหนือ