นางพญาเสือโคร่ง นางงามแห่งขุนเขา

C360_2014-01-19-16-14-15-449

แม้เชียงใหม่จะมีดอกทองกวาวเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด แต่ ณ ตอนนี้ผมว่าชาวบ้านหลายๆ คนทั้งในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างถิ่น แทบจะพากันคิดเหมาเอาเองแล้วว่า ดอกนางพญาเสือโคร่ง คือดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่

สาเหตุไม่มีอะไรไปมากกว่าในยามฤดูหนาวบนดอยหลายๆ แห่งต่างเต็มไปด้วยดอกนางพญาเสือโคร่งที่บานสะพรั่งอวดสีชมพูสดใสสวยงาม ไม่ต่างจากรอยยิ้มอันหวานฉ่ำของสาวสวย

C360_2014-01-19-16-01-56-046

และในเมื่อมันสวยงาม แถมชาวบ้านต่างพากันแห่ไปเที่ยวชมเยอะ ฉะนั้น เวลาพูดถึงเชียงใหม่ ใครๆ ต่างก็พากันนึกถึงดอกนางพญาเสือโคร่งก่อนใคร ถ้าไม่เชื่อคุณลองไปถามนักท่องเที่ยวต่างถิ่นซิ (ดอกนางพญาเสือโคร่ง เป็นดอกไม้ประจำอำเภอเวียงแหง)

ทีนี้ขีดวงแคบลงมาถามถึงลักษณะของต้นนางพญาเสือโคร่ง หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกันแบบจริงๆ ในเชิงความรู้ ซึ่งถามว่ามันสำคัญมั้ย ก็ต้องบอกว่าสำคัญซิ ในเมื่อเราจะมาเที่ยวก็ต้องรู้ว่ามันบานช่วงไหนยังไง มีลักษณะยังไง ที่สำคัญจะเที่ยวให้ดี มันก็ต้องมีความรู้ติดตัวมาด้วย ถึงจะคุ้ม

C360_2014-01-19-16-13-52-978

C360_2014-01-19-14-33-02-562

กล่าวถึงนางพญาเสือโคร่ง (ไม่มีโฮ่งๆ นะ) เป็นพืชดอกในสกุล Prunus ที่ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พบได้ทั่วไปบนดอยสูง เช่น ภูลมโล จังหวัดเลย, ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย, ดอยเวียงแหง ขุนช่างเคี่ยน ขุนแม่ยะ จังหวัดเชียงใหม่, ขุนสถาน ดอยวาว ดอยภูคา และมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน เป็นพรรณไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ที่ตอนเหนือของประเทศไทย ทางตอนใต้ของประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และถูกนิยมเรียกว่า "ซากุระเมืองไทย" เพราะมีลักษณะคล้ายซากุระ แม้จะเป็นคนละชนิดกันก็ตาม

C360_2014-01-19-16-04-11-802

C360_2014-01-19-16-14-15-449

นางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ลักษณะรูปรีแบบไข่หรือไข่กลับออกสลับกัน ปลายใบเรียวแหลม ใบร่วงง่าย ดอกมี สีขาว ชมพู หรือแดง ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ก้าน ดอกยาว 0.7-2 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นกลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย ระยะเวลาออกดอกจะอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก

C360_2014-01-19-16-00-44-878

ส่วนการปลูกนางพญาเสือโคร่ง จะได้ผลดีถ้าปลูกบนพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เป็นไม้ที่มีความเหมาะสมในการที่จะขึ้นอยู่ในพื้นที่ผ่านการทำไร่เลื่อนลอย บนพื้นที่สูง แต่ไม่ควรปลูกบนพื้นที่ซึ่งมีลมพัดจะทำให้กิ่งก้านหักได้ง่าย ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด

C360_2014-01-19-14-33-32-149

สำหรับคนที่ขี้สงสัยอาจจะงงว่า ทำไมถึงเรียกนางพญาเสือโคร่ง คำตอบมันอยู่ตรงที่ลำต้นครับ สังเกตดีๆ มันจะลายเหมือนกับเสือโคร่ง ส่วนในเรื่องของความแตกต่างกับซากุระญี่ปุ่นนั้น เป็นช่วงเวลาของการออกดอก (รวมทั้งลำต้นด้วย) ซึ่งถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวดอยอ่างขาง ก็คงจะได้เห็นถึงความแตกต่างจากดอกไม้ทั้งสองประเภทอย่างชัดเจน เพราะที่นั้นมันมีทั้งนางพญาเสือโคร่งและซากุระญี่ปุ่นให้ชมด้วย (ซากุระไต้หวันก็มี)

C360_2014-01-19-16-17-14-169

ถือซะว่าเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝากกันพอหอมปากหอมคอ และเป็นความรู้รอบเอวเอาไว้ประดับสมอง ทีนี้ลองมีใครมาถามเรารับรองตอบได้แน่นอนเลยว่า “นางพญาเสือโคร่ง” หน้าตาเป็นยังไง