สะพานนวรัฐ เชียงใหม่

C360_2014-01-16-09-43-07-601

สะพานนวรัฐ สะพานหลักอันสำคัญที่เชื่อมโยงสองฝั่งแม่น้ำปิง ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ มาตั้งแต่ในอดีต

ในฐานะที่เป็นตัวเชื่อมโยงของสองฟากฝั่ง สะพานนวรัฐ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกที่ทำด้วยไม้สัก ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2433 ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน และจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สร้างโดยนายชี้กหรือหมอชี้ก โดยชื่อ "นวรัฐ" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย

C360_2014-01-16-09-41-33-129

แม้สะพานนวรัฐจะขึ้นชื่อว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกที่ทำด้วยไม้สัก แต่ถ้าให้พูดถึงความเป็นรุ่นพี่ในฐานะที่มีมาก่อนใครสะพานนวรัฐจะถูกเตะก้นมาเป็นรุ่นน้องทันที เมื่อสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกของเชียงใหม่ มันคือสะพานไม้ที่ข้ามระหว่างตลาดต้นลำไยกับวัดเกตการาม ในนามที่เรียกว่า "สะพานจันทร์สม"

C360_2014-01-16-09-50-03-126

จากบันทึกของนายปิแอร์ โอร์ต นักกฎหมายชาวเบลเยียมที่เดินทางมาเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2440 บอกไว้ว่า

"เชียงใหม่ไม่ใช่เมืองเก่าแก่มากนัก (เมื่อเทียบกับเมืองในยุโรป) แบ่งออกเป็น 2 เขต แต่ละเขตมีกำแพงสูงราว 3-4 เมตร และมีป้อมสูงที่แต่ละมุมกำแพง ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ ส่วนบนฝั่งซ้ายก็มีอาคารสำคัญๆ ตั้งอยู่ มีสะพานไม่สวยงามทอดเชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ สะพานนี้มีเสา 14 ต้น ระหว่างที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในเชียงใหม่สะพานนี้โยกคลอนเนื่องจากถูกท่อนไม้ซุงที่มากับกระแสน้ำดัน"

C360_2014-01-16-09-38-30-773

สะพานนวรัฐ หลังจากนั้นสร้างเสร็จ ก็ใช้การต่อมาได้หลายสิบปีจนพังลงด้วยเหตุเพลิงไหม้สะพาน จากบันทึกของพระยาอนุบาลพายัพกิจ ซึ่งตอนนั้นได้รับแต่งตั้งไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในระหว่างทางที่ต้องมาพักและเตรียมตัวเดินทางในเมืองเชียงใหม่ ได้บันทึกเกี่ยวกับสะพานนวรัฐ ในเวอร์ชั่นที่สอง (แบบสะพานเหล็กนั่นแหละ) ไว้ว่า

"สะพานนวรัฐที่สร้างด้วยไม้นี้ ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้สะพาน ทางราชการจึงสร้างสะพานเหล็กลำลองพอให้รถวิ่งเข้าไปมาได้ เมื่อรถไฟมาถึงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 จึงมีการรื้อสะพานไม้เดิมแล้วสร้างสะพานเหล็กขึ้นแทน"

C360_2014-01-16-09-36-13-725

แปลความแบบภาษาชาวบ้าน ก็คือสะพานไม้ถูกไฟไหม้ จากนั้นก็สร้างใหม่เป็นแบบสะพานเหล็ก ซึ่งในระหว่างนั้นทางราชการก็ได้สร้างสะพานเหล็กจำลองขึ้นมาใช้ชั่วคราวแทน (ขัวเหล็กปัจจุบัน) พอให้รถวิ่งเข้าไปมาได้ จนในปี พ.ศ. 2466 ก็เป็นอันว่าสะพานนวรัฐในแบบเวอร์ชั่นสะพานเหล็กเริ่มใช้งานได้

C360_2014-01-16-09-46-59-798

ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 ก็ได้ทำการรื้อสะพานเหล็กแล้วก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นแทนจวบมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พร้อมกันกับสะพานเม็งรายอนุสรณ์