หลายคนที่ยังไม่เคยพิชิตยอดดอยอินทนนท์ อาจจะสงสัยว่าที่นั้นมีกิจกรรมอะไรให้ทำบ้าง มีสถานที่ตรงไหนที่ต้องควรไปสัมผัส มากกว่าการยืนเก๊กท่าถ่ายรูปตรงป้าย “สูงสุดแดนสยาม”
ครับ ขอบอกว่ามีหลายที่ด้วยกัน แต่ถ้าจะให้แนะนำกันเป็นที่แรก หลังไปถึงยอดดอย พวกท่านควรเดินป่าศึกษาธรรมชาติก่อนในระยะพอหอมป่าหอมคอ (ส่วนใครอยากไหลยาวๆ ยังมีอีกด้วยกันหลายที่ครับ)
จากจุดเริ่มต้น เราจะพากันไปยังป้าย “สูงสุดแดนสยาม” ก่อนเพื่อเก็บภาพเป็นที่ระลึกกัน ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมาเหยียบที่นี้ จากนั้นก็เดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นบันไดที่ไม่ชันมาก ที่ตลอดสองข้างทางเขียวชอุ่มชุ่มชื้น และอากาศค่อนข้างเย็น ก่อนจะพบกับพระสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์
ที่ตรงนี้จะเป็นกู่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 องค์สุดท้าย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าไม้และหวงแหนดอยหลวงเป็นอย่างมาก และต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งจากการที่ท่านผูกพันกับที่แห่งนี้ จึงได้สั่งไว้ว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งมาไว้ที่นี่
เดินจากตรงนั้นมาซักหน่อยตามสะพานไม้สัก บริเวณหลังพระสถูป ก็เป็นอันว่าเจอหมุดหลักฐานจุดสูงสุดแดนสยาม พร้อมป้ายแสดงตัวเลขความสูงจากระดับน้ำทะเลบอกไว้ 2565.3341 เมตร ส่วนเหรียญที่ถูกวางบนหมุด อันนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่าวางไปเพื่อความเชื่อในด้านไหน
เสร็จจากตรงนี้ไประหว่างทางก็จะเป็นสะพานไม้สักครับ ตรงนี้จะมีสภาพเป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่มีความชื้นสูง ซึ่งสังเกตได้จากน้ำที่เกาะตามกิ่งก้านต่างๆ โดยป่าดึกดำบรรพ์บนยอดดอยอินทนนท์นี้ ถือเป็นเสน่ห์อย่างนึงที่นักท่องเที่ยวต่างพากันชื่นชอบ และอยากจะมาสัมผัส
ทั้งนี้ จากจุดเริ่มต้นถึงจุดสิ้นสุดตรงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เวลาในการเดินชมศึกษาธรรมชาติน่าจะอยู่ราวๆ ประมาณ 20 นาทีด้วยกัน ซึ่งหลังเสร็จจากตรงนี้แล้ว ตรงปลายทางจะมีที่จัดนิทรรศการของดอยอินทนนท์ให้ได้ชมกัน โดยด้านในนั้นจะจัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าต่างๆ ในดอยอินทนนท์ พืชพันธุ์ รวมทั้งสภาพป่าบนดอยอีกด้วย (ตอนผมไปเหมือนว่ายังทำกันไม่เสร็จ)
ตบท้ายทริปสั้นๆ นี้ด้วยการแวะร้านขายของที่ระลึก ที่ขนสินค้ามาจำหน่ายหลากหลายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโปสการ์ด สมุดบันทึก เสื้อผ้า พวงกุญแจ หมวก ฯลฯ และถ้าถามผมว่าควรซื้ออะไรเป็นของที่ระลึก ผมคงบอกว่าโปสการ์ดนี่แหละ เข้าท่าที่สุด
เข้าท่าตรงที่มันสามารถส่งผ่านความคิดถึงไปยังคนที่เรากำลังคิดถึง และอยากให้เค้ามาเที่ยวกับเราด้วย แน่นอน ผมเลือกเอาใบที่สื่อความหมายของดอยอินทนนท์มากที่สุด
ที่สำคัญ ผมไม่ลืมที่จะเขียนคำว่า “คิดถึง” เป็นคำลงท้ายบนโปสการ์ดแผ่นนั้น