มาวัดเจดีย์หลวงก็หลายที แต่เพิ่งมาสังเกตจริงๆ จังๆ ว่าในวัดแห่งนี้มีพิพิธภัณฑ์อยู่ด้วย
หลายคนคงสงสัยเหมือนกับผมแหละครับ ว่าพิพิธภัณฑ์มันไปแอบฝังตัวอยู่ส่วนไหนของวัด
บอกให้เอาบุญ “หอธรรม” และพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง จะตั้งอยู่แถวๆ บริเวณฝั่งทางด้านขวามือของตัวเจดีย์ คือถ้าเราเดินเข้ามาในวัด ให้เดินมาทางฝั่งทางด้านขวามือเลย ก็จะเห็น“หอธรรม” และพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง อยู่ตรงหัวมุมถนน
“หอธรรม” และพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง หลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง มีอายุครบ 90 ปี เมื่อ พ.ศ. 2550 บริเวณที่สร้าง “หอธรรม” และพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง เคยเป็นหอธรรมดั้งเดิมของคณะสังฆาวาสหอธรรม
“หอธรรม” และพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง เป็นอาคารแบบพื้นเมืองภาคเหนือ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา และจากคณะศิษย์ของมหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา
ในส่วนของตัวอาคารนั้น ชั้นล่างจะเป็นพิพิธภัณฑ์ก่ออิฐถือปูน ชั้นบนสร้างด้วยไม้สัก เป็นส่วนของหอธรรม ซึ่งเก็บรักษาหีบพระธรรม และคัมภีร์ของวัดเจดีย์หลวง ซึ่งมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยรายละเอียดของแต่ละชั้นจะเป็นดังนี้
ชั้นล่าง จัดแสดงนิทรรศการหลายอย่าง เริ่มที่ข้อมูลทั่วไปของพระธาตุเจดีย์หลวง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน, สถานที่สำคัญในวัด, แผ่นทองจังโก ประดับพระเจดีย์ ซึ่งเป็นแผ่นโลหะปิดทอง ใส่กรอบไม้ประดับลวดลายพรรณพฤกษาตกแต่งด้วยกระจก ด้านบนสลักข้อความว่า “พระภิกษุสามเณร วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ถวายพระเดชพระคุณ พระพุทธพจนวราภรณ์ เนื่องในโอกาสเจริญ อายุ 90 ปี”
ช้างสามเศียรใหญ่ ช้างเอราวัณ ส่วนประดับหน้าบันชั้นบนทางด้านทิศตะวันออกของพระวิหารหลวงหลังเดิม ซึ่งน่าจะสร้าง พ.ศ. 2471 เป็นไม้แกะสลักรูปช้างเอราวัณ ลงรักสีดำปิดทองทั้งตัว ลงรักสีแดงปิดทอง ดวงตาเป็นสีน้ำเงินวาว
สัตภัณฑ์ ราวเทียนที่ทำจากไม้ เป็นที่ปักเทียน 7 เสา สำหรับวางไว้หน้าพระประธาน ส่วนราวเทียนที่ทำจาก ทองเหลืองหรือสำริด มักจะทำเป็นรูปหงส์, ตู้ลายรดน้ำรูปเทวดาเหาะพนมมือทั้ง 4 ด้าน เครื่องสังเค็ด งานพระเมรุเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ณ ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2472
ในส่วนของชั้นบน เป็นหอธรรม ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ โดยคัมภีร์ทางเหนือนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ คัมภีร์ใบลาน และคัมภีร์พับสาทั้งนี้ คัมภีร์ในหอธรรมวัดเจดีย์หลวง ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลาน เขียนอักษรธรรมล้านนา เนื้อหาเกี่ยวกับพุทธชาดก และเรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
สำหรับใครที่สนใจที่จะมาเยี่ยมชม “หอธรรม” และพิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หลวง ก็สามารถมากันได้ทุกวัน ปิดประมาณห้าโมงเย็นกันครับ