“Retold – untold Stories”เรื่องราว เล่าย้อน: นิทรรศการแสดงเดี่ยวผลงานของ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ

DSCF0075

หากจะเอ่ยนิยามถึงคำว่า “ศิลปะ” คงมีแง่มุมหลากหลายให้ได้ตีความหมายกันว่านิยามของแต่ละคนนั้น คืออะไร เป็นแบบไหน ทั้งนี้นอกจากคำว่า “ศิลปะ” ที่พูดถึงแล้ว ยังมีเรื่องของผลงานของศิลปะกันอีกด้วย ให้คนเสพงานได้ตีความหมายกัน

จริงๆ จะบอกว่านี่ถือเป็นเสน่ห์ของงานศิลปะก็คงถูก เพราะแต่คนละย่อมตีความหมายกันแตกต่างออกไปตามแต่ประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว แต่ท้ายที่สุดการตีความหมายจะสัมฤทธิ์ผล ถ้าคนเสพงานเข้าใจถึงเจตนาของคนสร้างผลงานที่ต้องการจะสื่ออะไรออกไป

“Retold – untold Stories”เรื่องราว เล่าย้อน นิทรรศการแสดงเดี่ยวผลงานของของ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ เป็นอีกหนึ่งงานศิลปะที่น่ารับชม นิทรรศการดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนาผ่านเสียงสะท้อนของผู้หญิง เรื่องราวจากปากเล่าสู่กันมาทั้งที่บันทึกไว้  ที่ได้ยิน(หรือไม่ได้ยิน) ได้เห็น(หรือไม่เห็น)  ได้ฟัง(หรือเข้าใจว่า) สืบต่อกันมาจากด้านและมุมที่ยืนอยู่ของสังคมที่พัฒนามานานนับพันๆปี แต่งานนี้แสดงเนื้อหาของความผูกพันของศิลปินกับแม่ของเธอ ซึ่งเกิดที่ตำบลท่าแพ เมืองเชียงใหม่ และจากไปใช้ชีวิตครอบครัวที่กรุงเทพฯตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่น เมื่อ ภาพตะวัน ย้ายไปมีครอบครัวของเธอเอง ที่ซิดนีย์ แม่เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจยามเธอคลอดลูก ขณะกำลังให้นมลูกนั้น ภาพตะวัน เงยหน้าขึ้นมาสบสายตาแม่ที่มองอยู่ เธอนึกย้อนถึงภาพอดีตของแม่ที่โกนหัวนุ่งขาวห่มขาวเป็นชี อายุของแม่ตอนคลอดลูกสาวคนสุดท้องเท่ากันพอดีกับอายุของเธอตอนคลอดลูกคนแรกซึ่งเป็นลูกสาวด้วยเหมือนกัน ซึ่งหลังจากแม่คลอดลูกคนเล็กแล้วได้ไปบวชและใช้ชีวิตเป็นแม่ชีในวัดเป็นเวลาร่วมสามเดือน

DSCF0070

ผลงานของ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือส่วนแรก “แม่จะบอกหื้อ นายฟัง” เป็นการนำค่าว (บทกลอน) ล้านนาที่คุณแม่จันทร์เที่ยง โกฏแก้ว เขียนและบอกเล่าถ่ายทอดสอนให้ลูกๆ ของท่าน อาจารย์ รำพัด โกฏแก้ว ซึ่งเป็นลูกสาว ได้นำมาบอกต่อด้วยปากเปล่าให้ศิลปินฟังที่ บ้านม่อนฝ้าย ระหว่างที่คุณแม่จันทร์เที่ยง รักษาตัวอยู่โรงพยาบาลและเสียชีวิตลงในวันต่อมาอายุได้ 95 ปี ภาพตะวัน เลือกซื้อหาผ้าพื้นเมืองเพื่อมาสร้างรูปลอยตัวนูนต่ำเป็นตัวอักษรไทย เรียงต่อกันบนพื้นเป็นค่าวบทนี้ ซึ่งยังบรรจุเครื่องเทศและของแห้งที่หาซื้อมาจากกาดใส่ลง ไปด้วย พิมพ์ของตัวอักษรที่ถอดออกมาต้องพลิกด้านหลังเพื่อใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของ จึงไม่สามารถอ่านเป็นภาษาได้นอกจากจะมองผ่านการสะท้อนในกระจกเงา ซึ่งผู้อ่านจะต้องยืนเปลี่ยนหามุมไปเรื่อยๆถ้าต้องการอ่านให้ต่อเนื่อง กระนั้นก็ใช่ว่าจะอ่านได้ใจความทั้งหมดเนื่องจากค่าวเป็นภาษาคำเมืองของ วัฒนธรรมล้านนา งานชิ้นนี้เป็นการจำลองภาพการรับและถ่ายทอดสารจากการที่เราได้ยิน ได้เห็นและรับรู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทมุมมองและการรับฟังของ ทั้งผู้ถ่ายทอดและผู้รับสาร เป็นกลอักษรแสดงถึงเรื่องวัฒนธรรมกลุ่มที่ถูกถ่ายทอดตีความจากมุมมอง และโดยเงื่อนไขที่แปรผันไปของสังคม

DSCF0071

DSCF0075

ส่วนที่สอง ขวัญเอ๋ย ขวัญมาศิลปินสร้างงานนี้จากผ้าพื้นเมืองที่หาซื้อได้จากกาดหลวง ต.ท่าแพบ้านเกิดของแม่ มาสร้างถอดประกอบจากพิมพ์รูปปั้นศีรษะของแม่ ที่เธอปั้นขึ้นที่ซิดนีย์ ก่อนเดินทางมาทำงานที่เชียงใหม่ แม่สูญเสียความทรงจำไปเกือบทั้งหมดแล้วแต่ระยะหลังๆ กลับย้อนมา อู้กำเมือง ภาษาที่ท่านใช้ในวัยเด็กบ่อยขึ้นๆ ทุกครั้ง  ที่ลูกหลานไปเยี่ยมหาท่าน หลายปีที่ผ่านมา ภาพตะวัน เคยได้สื่อสารผ่านการร้องเพลงโปรดของแม่คลอกันไปผ่านโทรศัพท์ทางไกล กลับมีแต่ความเงียบจากสาย ปลายทางเมืองไทย การได้ปั้นรูปจากความทรงจำโดยไม่มีแบบให้เห็นอยู่ตรงหน้าด้วยมือที่เธอขึ้นรูปและนวดดินเป็นรูปแม่อยู่ทุกวี่วัน เป็นการคลายความคิดถึงและ แทนการสัมผัสเนื้อตัวของแม่จากเมืองไกลในซิดนีย์ การได้เลือกซื้อหาใยผ้าพื้นเมืองมาประกอบขึ้นใหม่เป็นรูปแม่ และนำของแห้งเครื่องเทศในกาดเชียงใหม่ที่แม่เคย กินเคยใช้ในวัยเด็กมาบรรจุลง เป็นพิธีกรรมที่ศิลปินแสดงการได้สัมผัสและรับรู้ความทรงจำในวัยเด็กของแม่

DSCF0069

และส่วนที่สาม ถอนสะกดโดยที่ประเพณีล้านนามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพราหมณ์ พุทธ และ ไสยศาสตร์ มีการพิธีกรรมหลากหลายที่ผู้ประกอบพิธีจะต้องมีฐานะเป็นหนาน (ชายที่ผ่านการบวชหลายพรรษา) เท่านั้น งานนี้ศิลปินได้ใช้พู่กันจุ่มลงในน้ำชาและกาแฟแทนหมึก เขียนลอกเนื้อหาของค่าวล้านนาลงบนกระดาษสา จากนั้น เธอได้ทำการนั่งปรุกระดาษนี้เป็นจังหวะติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เป็นการลอกเลียนการประกอบพิธีสัก    โดยใช้เข็มทิ่มแทงทะลุกระดาษลงไปบนผ้าพับที่ซ้อนอยู่ ด้านล่าง ศิลปินไม่สามารถก้าวข้ามไปทำพิธีนี้ ในเขตพื้นที่ที่เป็นของผู้ชาย เธอจึงนั่งปรุกระดาษและผ้าด้วยเข็มเย็บผ้าอันเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้หญิง ทำได้ เนื้อหาของคราบน้ำชาและกาแฟพูดถึงบริบททางด้านสิ่งแวดล้อมทางการบริโภคและสังคมเกษตรกรรมที่เปลี่ยนไป นิทรรศการนี้รวมผลงาน ผ้าสานสัมพันธ์ ที่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาสิ่งแวดล้อมส่งมาร่วมแสดงด้วยเช่นกัน

DSCF0064

DSCF0063

DSCF0062

DSCF0060

“Retold – untold Stories”เรื่องราว เล่าย้อน นิทรรศการแสดงเดี่ยวผลงานของ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ มีให้ชมกันไปจนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2557 ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใครสนใจไปชมกันได้ฟรีครับ