“ขันโตก” วัฒนธรรมการกินอาหารของชาวล้านนา

535731_450406801700250_561906209_n

ขันโตก ถ้าไปพูดคำนี้กับคนต่างถิ่น ชาวบ้านอาจจะไม่เคยรู้จักมากก่อนว่าคืออะไร แต่สำหรับคนภาคเหนือแล้ว ขันโตก ถือเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารที่สำคัญและมีกันมาอย่างช้านานแล้ว

ว่าด้วยเรื่องขันโตก มันเป็นประเพณีของชาวเหนือที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ใช้ในการรับรองแขกบ้านที่มาเยือน ให้หรูหรา สมเกียรติ และเพื่อให้เกิดความอบอุ่นประทับใจในการต้อนรับ โดยการนั่งรับประทานอาหารในงานขันโตก นั้นจะนั่งกับพื้นบนสาดเติ้ม (เสื่อไผ่สาน) หรือจะนั่งรับประทานขันโตกบนพื้นไม้ที่ยกพื้นขึ้นมาในระดับเวทีก็ได้

ปัจจุบันการกินขันโตกก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเป็นการจัดงานเลี้ยง สอดใส่ด้วยการประดับประดาบรรยากาศในสไตล์เมืองเหนือ มีการนำเอาศิลปะ วัฒนธรรมการแสดงมาผนวกเข้า เพื่อสร้างความรื่นเริงแก่ผู้มาเยือน

ขันโตก เป็นภาชนะที่มีลักษณะเป็นถาดมีขาตั้งสูง ใช้วางอาหาร ใช้กันในหมู่คนที่นิยมรับประทาน ข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ขันโตกมีสองชนิดด้วยกัน คือ ขันโตกยวนซึ่งทำด้วยไม้สัก ใช้กันแพร่หลายในแถบ ภาคเหนือของประเทศไทย อีกชนิดหนึ่งคือขันโตกลาว ทำด้วยไม้ไผ่สานประกอบด้วยหวายในบางส่วน นิยมใช้ในภาคอีสาน  ลาว และแถบ สิบสองปันนาในทางตอนใต้ของจีน  รวมทั้งชาวเขาบางกลุ่มก็นิยมใช้ขันโตกกัน

559073_450002595074004_971224235_nฝรั่งได้กินยังฟินเลย

การใช้งาน ใช้เป็นภาชนะที่วางถ้วยอาหารกับข้าว เมื่อใส่กับข้าวแล้วยกมาตั้งสมาชิกในครอบครัวหรือแขกที่มาบ้านจะนั่งล้อมวงกันกินข้าว หากใส่ดอกไม้ธูปเทียนก็จะเป็นขันดอก และถ้าใส่เครื่องคำนับก็จะเป็นขันตั้ง

ชนิดของขันโตกว่าไปแล้ว มาดูการแบ่งขนาดของขันโตกกันบ้าง หลักๆ เลยก็จะมีกันถึง 3 ขนาด คือ ขันโตกหลวง หรือ สะโตกหลวง ที่ทำด้วยไม้ขนาดใหญ่  นิยมใช้การในราชสำนักในคุ้มในวังของเจ้านายฝ่ายเหนือทั่วไป รวมทั้งใช้ในวัดวาอารามทั่วไปด้วย

ขนาดรองลงมาก็จะเป็น ขันโตกฮาม หรือ สะโตกทะราม เป็นขันโตกขนาดกลางประมาณ 17 – 24 นิ้ว ใช้ไม้ขนาดกลางมาตัดและเคี่ยนหรือกลึงเหมือนขันโตกหลวง ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้ มักได้แก่ครอบครัวขนาดใหญ่ เช่น คหบดี เศรษฐีผู้มีอันจะกิน หรือถ้าเป็นวัด ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้คือ พระภิกษุ ในระดับรองสมภาร

สุดท้ายขันโตกหน้อย เป็นขันโตกขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 10 – 15 นิ้ว วิธีทำมีลักษณะเช่นเดียวกับขันโตกหลวงและขันโตกฮาม ใช้ในครอบครัวเล็ก เช่น หญิงชายพึ่งแต่งงานใหม่ หรือ ผู้ที่รับประทานคนเดียว อาหารที่ใส่ก็มีจำนวนน้อย

มาวันกันถึงเรื่อง อาหารในขันโตกบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยอาหาร 5 อย่าง เช่น  แกงอ่อม แคบหมู แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง ชิ้นปิ้ง ผักสด ก็ว่ากันไป และสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ข้าวเหนียว ส่วนของหวานที่นิยมก็มี ขนมปาด ข้าวแตน ข้าวควบ นอกจากนี้ก็มีน้ำต้นคนโท ขันน้ำสำหรับล้างมือก่อนหยิบข้าวนึ่ง มีกระโถนใส่เศษอาหารและเมี่ยง  สำหรับสิงห์อมควัน ก็มี บุหรี่ขี้โย เป็นบุหรี่ยาเส้น นำมามวนใบตอง ให้ได้ลองสูบกัน

เล่ากันมาซะยืดยาวแล้ว สุดท้ายก็ต้องบอกลายแทงกัน ใครอยากสัมผัสการกินขันโตก มี 2 แห่ง ที่ขึ้นชื่อให้เลือก ที่แรก คุ้มขันโตก แถวหนองป่าครั่ง ใกล้ๆ ขนส่งอาเขต ตรงถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ อีกทีเป็น ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ก่อนออกไปสี่แยกเซ็นทรัลแอร์พอร์ต สำหรับที่แรกนั้นราคาและบริการถือว่าโอเคคุ้มค่า ส่วนที่หลังผมยังไม่เคยลองไป ยังไงซะก็ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามเอาได้ เพื่อจะได้ช่วยตัดสินใจในการไปกินขันโตกให้ดีขึ้น

map (1)แผนที่คุ้มขันโตก

mapแผนที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่