ถ้าไม่นับพระธาตุดอยสุเทพ หมีแพนด้า รถแดง ข้าวซอย ดอยอินทนนท์ ถนนต้นยางใหญ่คงไม่เคอะเขินที่จะถูกบรรจุเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่
สองข้างทางรายล้อมไปด้วยต้นยางสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมให้ร่มเงาทั่วบริเวณ ตลอดระยะทาง 10 กว่ากิโลเมตร แน่นอนว่า ธรรมชาติไม่ได้สร้างขึ้นแน่ หากแต่มันมนุษย์ต่างหากที่ตั้งใจปลูกมันเอง
บิดเข็มนาฬิกากลับไปใน ในปี พุทธศักราช 2454 ที่ได้ก่อกำเนิดต้นไม้สองข้างทาง โดยหลวงเจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงคนแรกของมณฑลพายัพ ได้นำต้นยางนามาให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกจำนวนกว่าพันต้นตลอดแนวถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัตน์เป็นต้นไปจนสุดเขตจังหวัดเชียงใหม่ ถนนเชียงใหม่-ลำพูน
โดยในเขตเชียงใหม่นั้นจะปลูกต้นยางทั้งสองฟาก และพอเลยเขตเชียงใหม่เข้าเขตลำพูนก็ให้ปลูกต้นขี้เหล็กแทน เพื่อเป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าเป็นเขตแบ่งของสองจังหวัด ซึ่งต้นไม้ตลอดเส้นทางของถนนสายนี้มีร่วมสองพันต้น มีการปลูกเป็นแถวอย่างมีระเบียบ มีระยะห่างกันระหว่างต้นประมาณ 10 ถึง 20 วา ตลอดเส้นทาง และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ในสมัยนั้นจึงมีการตั้งกฎข้อบังคับขึ้นมาใช้ในการดูแลรักษาต้นไม้
กฎก็มีอยู่ว่า หากสัตว์เลี้ยงของผู้ใดเหยียบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน (หนักเหมือนกันนะครับ) และถ้าต้นยางนาปลูกตรงกับหน้าบ้านใคร ก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจดูแลทนุถนอมเลี้ยงเหมือนลูกเหมือนหลาน มีไม้อะไรก็ทำการล้อมรอบเป็นรั้วให้มันซะ วัวควายจะไม่ได้เข้ามาเหยียบย่ำให้ช้ำอุรา เท่านั้นยังไม่พอ ต้องหัดหมั่นรดน้ำพรวนดิน ดายหญ้า ใส่ปุ๋ย มันด้วย
สำหรับต้นยางนาที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใด ก็จะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบไป โดยให้หัวหน้าหมู่บ้านจะนำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษา และด้วยกฎเหล็กที่โหดแบบนี้ จึงทำให้ต้นยางนาเจริญเติบโตได้ดีและสวยงาม ประหนึ่งลูกคนรวยที่ได้รับการเลี้ยงดู อย่างสมบูรณ์ พูนสุข
บิดเข็มกลับไปในอดีตแล้ว ก็บิดเข็มกลับมายังปัจจุบัน จากวันนั้นถึงวันนี้ 131 ปี ของถนนต้นยางใหญ่ ที่นี้ยังคงเหลือต้นยางไว้ให้ชาวบ้านอนุรักษ์สืบทอดกันต่อไป เพื่อคงอยู่ไว้เป็นเอกลักษณ์ ที่ใครไปใครมาที่นี้ก็ต้องจดจำ
สุดท้ายนี้ แม้หลายช่วงที่ผ่านมาต้นยางเกือบจะถูกโค่นลง เพื่อสร้างถนนหนทางให้เจริญก้าวหน้า แต่ทั้งหมดทุกอย่างนั้นก็ผ่านมันมาได้ จากการร่วมมือแก้ปัญหาของหลายๆ ฝ่าย เพื่อหาทางออกให้กับถนนสายนี้ยังคงอยู่ในนามของ “ถนนสายสำคัญทางประวัติศาสตร์”