สำหรับผม ถ้ามาเวียงกุมกาม ทางถนนเส้นเชียงใหม่ – ลำพูน สถานที่แรกที่จะต้องพบเจอก่อนใคร ก่อนเข้าไปถึงวัดช้างค้ำ จุดเริ่มต้นค้นพบเวียงกุมกาม คือวัดกู่ขาว ตรงปากทางเข้าเวียงกุมกาม ติดริมถนนเชียงใหม่ลำพูน
สำหรับใครผ่านไปผ่านมาแถวนั้น และยังไม่เคยไปเที่ยวเวียงกุมกาม อาจจะยังงงๆ อยู่ว่า วัดมันอยู่ตรงไหนว่ะ ขี่รถวน 4-5 รอบก็ยังไม่เจอ
สังเกตง่ายๆครับ มันจะมีเจดีย์อยู่ใต้ต้นจามจุรี นั้นแหละคือวัดกู่ขาว
อนึ่ง สำหรับวัดที่เวียงกุมกามส่วนใหญ่ จะเป็นแนวอย่างนี่มากันหมด คือเหลือแต่ซากปรักหักพัง บางที่ก็จะเป็นเนินฐานต่ำๆ อิฐแดงก่อตัวขึ้นสูงระดับเอว ฉะนั้นอย่าแปลกใจ ถ้าวัดในเวียงกุมกามส่วนใหญ่ จะไม่มีวิหาร โบสถ์ เจดีย์ให้เห็น ซึ่งถึงมีก็จะมีแต่วัดใหญ่ๆ กันเท่านั้น
สำหรับวัดกู่ขาว ตามประวัติบอกว่าสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 โดยคำว่ากู่ ในภาษาถิ่นเหนือ หมายถึงเจดีย์สีขาว ซึ่งคงจะเรียกตามลักษณะของเจดีย์ อันประดับด้วยลวดลายปูนปั้นและฉาบปูนสีขาว และตามพิกัดที่ตั้งของวัด จะสร้างหันไปทางทิศใต้เข้าสู่ลำน้ำปิง โดยมีซากโบราณสถานในวัดประกอบไปด้วย ซุ้มประตูแก้ว แนวกำแพงด้านทิศเหนือ พระเจดีย์ และวิหาร
โดยพระเจดีย์วัดกู่ขาว เป็นเจดีย์แบบล้านนา ฐานล่างเป็นหน้ากระดาน สี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่น 3 ชั้นขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วซ้อนกันอยู่ 2 ชุด แต่ละชุดมีเส้นบัวลูกแก้วคาด 2 เส้น ระหว่างฐานบัวแต่ละชุดคั่นด้วยกระดานท้องไม้ใหญ่ ประดับลวดลายปูนปั้นที่มุมของย่อเก็จทุกแห่งโดยรอบ วิหารคงเหลือเฉพาะส่วนท้ายอาคารมีร่องรอยแสดงการก่อสร้างซ้อนทับกันสองครั้ง
ลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์กู่ขาว ส่วนสำคัญอยู่ที่มุมย่อเก็จบริเวณหน้ากระดานท้องไม้ใหญ่ระหว่างฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น ลักษณะคล้ายลายประจำยามมุม เป็นลวดลายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กรอบนอกเป็นเส้นโค้งหนา กึ่งกลางเป็นรูปดอกกลมล้อมด้วยกลีบดอกและลายก้านขด อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ฐานชุกชี (ฐานพระประธาน) ของวิหารเดิมมีลายปูนปั้นรูปกลีบบัวและรูปสิงห์ที่ประดับไว้
ส่วนลักษณะของวิหาร ปัจจุบันคงเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนหน้าท้ายอาคาร อันเป็นส่วนของแท่นแก้วพระประธาน มีร่องรอยแสดงการก่อสร้างซ้อนทับกันสองครั้ง ซึ่งหากได้รับการขุดแต่งตามแนวฐานไปทางด้านใต้แล้ว ก็จะพบหลักฐานในส่วนฐานวิหารนี้ต่อยาวออกไป วัสดุก่อสร้างเป็นอิฐก่อสอด้วยดินและฉาบปูนขาว ที่ปัจจุบันส่วนของปูนขาวฉาบหลุดออกร่อนไปแล้วเสียส่วนมาก ยกเว้นในส่วนองค์เจดีย์ตอนบนที่คงเหลือร่องรอยมากอยู่ ลายประจำยามประดับเจดีย์บางแห่งยังคงเห็นรายละเอียดที่ชัดเจน
โบราณวัตถุสำคัญอื่นๆ ที่พบจากการขุดแต่งพระธาตุกู่ขาวจากกรมศิลปากรก็จะมี พระพุทธรูปศิลา และพระพุทธรูปแก้วสีเขียวปางมารวิชัย
สำหรับใครมาเที่ยวเวียงกุมกาม ถ้าเข้ามาทางถนนเส้นเชียงใหม่ – ลำพูน ก็เริ่มสตาร์ทเรียนรู้ประวัติศาสตร์เวียงกุมกามจากวัดกู่ขาวเป็นที่แรกกันได้เลยครับ