ถ้ามีการจัดอันดับมนุษย์ผู้ไปเที่ยววัดมากที่สุดในจำนวนรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ไม่ขอนับมัคคุเทศก์สายธรรมะนะ) ผมน่าจะติด 1 ใน 5 ของภาคเหนือ โดยไม่ต้องมีข้อสงสัย
ไม่ใช่ว่าขี้คุยหรือขี้โม้อะไรว่าเจ๋งเป้ง แค่อยากเล่าให้ฟัง ยิ่งมาตรวจเช็คอายุอานามของผมแล้ว บวกกับหน้าตา ดูก็รู้ว่าไอ้นี้ไม่เหมาะกับการมาวัดด้วยประการทั้งปวง หรือถึงจะมา ก็ดูไม่น่าจะเหมาะกับสถานที่กันซักเท่าไหร่
“ผับ บาร์ ร้านเหล้า เอ็งน่าจะไปป่วนเปี้ยนแถวนั้น” บางคนบอกผมไว้แบบนี้….
ไอ้มีน่ะ มันก็มีไปครับ แต่ไอ้ที่มาวัดมันก็บ่อยกว่า อย่างวันนี้ผมก็จะพามาทำความรู้จักกับวัดกู่เต้า ถนนกู่เต้า ตำบลศรีภูมิ ในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่
วัดกู่เต้า หรืออีกชื่อคือ วัดเวฬุวันวนาราม เป็นวัดโบราณที่มีความโดดเด่นของเจดีย์ ที่เป็นรูปผลแตงโมซ้อนชั้นกันอย่างสวยงามครับพี่น้อง ตามประวัติการสร้างไม่แน่ชัด แถวบ้านเรียกว่าเบลอๆ นั้นแหละ แต่คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยที่พม่ายึดครองเมืองเชียงใหม่
จากพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงว่า เจ้าฟ้าสารวดี (มังซานนรธามังคุย) ราชโอรสพระเจ้าบุเรงนอง ได้ครองเมืองเชียงใหม่ ในระหว่างปี พ.ศ. 2122 – 2150 จนพิราลัยที่เมืองเชียงใหม่ จากนั้นพระมหามังชวยเทาในฐานะที่เป็นพระอนุชา ได้จัดถวายเพลิงพระศพ และโปรดให้สร้างสถูปเจดีย์กู่เต้าเพื่อบรรจุอัฐิและพระอังคารธาตุ และโปรดให้สร้างวัดขึ้นมาในบริเวณดงกอไผ่ จึงได้ชื่อว่าวัดเวฬุวันกู่เต้า ซึ่งชาวบ้านจะเรียกสั้นๆว่า วัดกู่เต้า ปัจจุบันมีชื่อเป็นทางการว่า วัดเวฬุวันวนาราม โดยคำว่า “กู่” คือ ที่บรรจุอัฐิ ส่วน “เต้า” คือ ขี้เถ้า ต่อมาภายหลังได้มีการบูรณะในสมัย พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เมื่อปี พ.ศ. 2417 และยุคปัจจุบันในสมัย รัชกาลที่ 5
สำหรับศาสนสถานสำคัญแห่งนี้ จะมีเจดีย์กู่เต้า เป็นเจดีย์ลักษณะคล้ายผลแตงโมหรือบาตรคว่ำซ้อนลดหลั่นขึ้นไปถึง 5 ชั้น อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในกัปนี้ ซึ่งประกอบด้วย พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม และพระอริยเมตไตรย
ฐานเจดีย์เป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมย่อมุม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานและฐานบัวรับส่วนที่เป็นบาตรคว่ำ ซึ่งมีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุธรูปปางต่างๆ ภายนอกประดับกระจกสีรูปดอกไม้ดูงดงามประณีต โดยมียอดฉัตรแบบพม่า
ส่วนพระวิหาร เมื่อมองจากที่ตั้งของเจดีย์กู่เต้า จะเห็นเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยรัตนโกสินทร์ หลังคาทรงเครื่องครบครันแบบวัดไทยในภาคกลางลดหลั่นกัน 3 ชั้น และศาลาการเปรียญ ก็เป็นแบบผสมศิลปะพม่า หลังคาสีทองเหลืองอร่ามมาแต่ไกล
วัดกู่เต้า ถือเป็นหนึ่งวัดที่มีความสวยงามและมีความเงียบสงบ เหมาะแก่การไปเที่ยวชมกันครับ