วัดดอกคำ เอาเข้าจริงแล้ววัดนี้เป็นวัดที่มีวิหารสวยงามนะครับ รวมทั้งพระพุทธรูปที่ประดิษฐานด้านในวิหารก็สวยงามไม่แพ้กัน เพียงแต่ในความสวยงามที่ผมกล่าวมานั้น นักท่องเที่ยวมักจะมองเป็นแค่ทางผ่านไปเที่ยววัดอื่นๆ ในคูเมืองซะมากกว่า
จากประตูท่าแพมาซักหน่อยตรงฝั่งคูเมืองด้านใน วัดดอกคำจะตั้งอยู่ติดริมถนน ขนาดพื้นที่วัดเล็กพอตัว และช่วงเวลาดังกล่าวที่ผมไป ทางวัดกำลังบูรณปฏิสังขรณ์วัดบางส่วนยังไม่แล้วเสร็จ
ตามประวัติบอกไว้ว่า วัดดอกคำสร้างประมาณปี พ.ศ. 2326 โดยมีหลักฐานจากคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูป ในวิหารวัดดอกคำ และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจจะสร้าง วัดดอกคำในช่วงที่เชียงใหม่เป็นเมืองร้าง หรือสร้างโดยพม่าก่อนหนีกลับไป
ให้หลังจากพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ และใช้เวลา 14 ปีอยู่ที่ “เวียงป่าซาง” เพื่อเตรียมฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ และมีการสร้างวัดช่างทองคำ (วัดดอกคำ) ในปี พ.ศ. 2326 โดยนับจากนั้นมาอีก 13 ปี พระเจ้ากาวิละ ก็ทรงต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ เช่น เมืองปัน เมืองตองคาย ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า บรรพบุรุษจากเมืองปัน และเมืองตองคาย น่าจะเป็นผู้ช่วยกันฟื้นฟูวัดดอกคำขึ้น
ต่อมา พ.ศ. 2362 รัชกาลที่ 2 (ราชวงศ์กาวิละ) จากหลักฐาน ตำนานเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงามเชียง- ใหม่ จ.ศ. 1216 ผูกที่ 8 ระบุว่า
“.จุลศักราช 1181 (พ.ศ. 2362) เดือน 6 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ พระญาเชียงใหม่ ก็มีการฉลองวัดอุโมงค์ วัดดวงดี วัดสะเพา และวัดพันเตา อีกทั้งในงานนี้มีการฉลองกันอย่างเอิกเกริก และในปีนี้เดือน 8 พระญาธัมมลังกาพระยาเชียงใหม่ ก็ได้ยกเสาวิหารวัดป้านปิง วัดดอกคำ วัดเชียงยืน และวัดบุพพาราม”
จากนั้น พ.ศ. 2440 วัดดอกคำ ได้รับการบูรณะอีกครั้ง โดยพระยาตำ ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด และได้นำลูกชายชื่อ “ตั๋น” มาบวชเรียนและมีชื่อเสียงมากในการ “เทศน์มหาชาติ” และ ต่อมาพระภิกษุตั๋น ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดดอกคำ
ในส่วนของความสวยงามนั้น วิหารวัดดอกคำโดดเด่นด้วยลวดลายตรงบริเวณหน้าบันของพระวิหารสีเหลืองทองอร่าม มีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ เด่นสง่าอยู่ตรงกลางพระวิหาร ส่วนภายในก็มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ด้วยกัน โดยในส่วนของฉากหลังนั้นมีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าถึงเรื่องราวพุทธประวัติ และตรงบริเวณบานหน้าต่างพระวิหารก็แกะสลักด้วยไม้สวยงามเช่นเดียวกันครับ
นอกจากพระวิหาร และพระพุทธรูปที่ประดิษฐานด้านใน ข้างหลังพระวิหารก็จะมีเจดีย์ที่อยู่ในช่วงบูรณะปฏิสังขรณ์ คาดว่าถ้าแล้วเสร็จ คงจะช่วยขับให้วัดแห่งนี้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้นครับ