ผมตามมาเที่ยววัดทุ่งอ้อ ในอำเภอหางดง เพราะป้ายบอกข้างทาง ที่บ่งชี้ว่าวัดแห่งนี้มี พระวิหารอายุ 700 ปี
คิดคำนวณในใจตอนนั้น วัดแห่งนี้ต้องมีอะไรพิเศษ และผมก็คิดไม่ผิด เมื่อเดินทางมาถึงวัด
วัดทุ่งอ้อ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดทุ่งอ้อหลวง เป็นวัดโบราณที่มีอายุเก่าแก่ และยังไม่ทราบการสร้างที่แน่นอน เท่าที่มีการบันทึกว่ามีคณะสงฆ์เข้ามาปกครองคือเมื่อปี พ.ศ. 2350 แต่สันนิษฐานจากรูปแบบโครงสร้างของวิหาร วัดนี้น่าจะมีอายุประมาณ 600-700 ปี
สิ่งที่ปรากฏชัด (และผมอยากชม) วิหารเก่า ที่หน้าวิหารจะมี หางวรรณ (หรือเรียกกันอีกอย่างว่าตัวเหงา) ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะโบราณยุคเดียวกับเมืองเชียงใหม่ พบได้ในสมัยเวียงกุมกาม เวียงท่ากาน เวียงมโน วัดทุ่งอ้อ เป็นศูนย์กลางร่วมสมัยในยุคของเวียงมโน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่กว่า 13 ปี วิหารของวัดทุ่งอ้อเป็นรูปแบบของศิลปะที่สืบทอดต่อจากเวียงกุมกาม ความโดดเด่นและความสวยงามของวิหารอยู่ที่การประกอบไม้สักโดยไม่ใช้ตะปู ก่ออิฐถือปูน และใช้ไม้สสักเกือบทั้งหลังสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งหาดูได้ยากตามวัดทั่วไป ดังนั้นตัววิหารของวัดทุ่งอ้อจึงมีขนาดเล็กกว่าวิหารทั่วไป คือ จุคนได้ประมาณ 50-60 คน
ส่วนองค์พระประธานของวิหารนั้น เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างพม่าและล้านนา สันนิษฐานว่าในสมัยโบราณบริเวณแถบนี้ ได้มีการสู้รบกันระหว่างล้านนากับพม่า จึงทำให้บริเวณนี้ถูกพม่ายึดเอาอาณาเขตบริเวณพื้นที่โดยรวม พร้อมกับการสร้างวัดนี้ขึ้นมา จึงทำให้วัดนี้มีศิลปะของพม่าผสมอยู่ จึงพอสรุปได้ว่า รูปแบบของศิลปะต่างๆ นั้นสืบทอดมาจากเวียงกุมกาม ทำให้แน่ใจได้ว่าวัดแห่งนี้มีอายุไล่เลี่ยกับเมืองเชียงใหม่
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะวิหารของวัดทุ่งอ้อ เพราะวิหารนั้นได้คงคู่กับกาลเวลามายาวนานหลายร้อยปี เก่าแก่และทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ดังนั้นอดีตท่านเจ้าอาวาส คือหลวงพ่อพระอธิการทองสุข สุทสฺสโน ท่านพระครูบาหล้า จึงได้ทำเรื่องถึงกรมศิลปากร ให้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์วิหารในปี พ.ศ. 2539 โดยกรมศิลปากรที่ 4 ได้อนุมัติเงินจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนบาท ในการบูรณะพระวิหาร เพื่อให้คงคู่อยู่กับวัฒนธรรมของเชียงใหม่ และเป็นตัวอย่างให้กับวัดอีกหลายแห่งที่ทำการบูรณะซ่อมแซมรื้อถอนวิหารออกไปทั้งหลัง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ศิลปะโบราณสูญหาย
นับได้ว่าวิหารของวัดทุ่งอ้อ แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ทรงคุณค่าด้านศิลปะและมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี ซึ่งถ้ามีโอกาสซักครั้งก็ควรมาเยี่ยมชมกัน