ดูจากพิกัดแล้ว วัดพระนอนหนองผึ้ง แลจะหลุดขอบออกมาจากเวียงกุมกามซักหน่อย แต่ก็ไม่มาก เมื่อตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกถนนเชียงใหม่-ลำพูน (106) ระหว่าง ก.ม. 6 เลยไปซักเล็กน้อย ในเขตท้องที่ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
ที่ว่าหลุดออกมานั้น เนื่องจากหลายๆ วัดในเวียงกุมกาม มักจะกระจุกตัวอยู่แถวๆ วัดช้างค้ำ รวมทั้งวัดเจดีย์เหลี่ยม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อละทิ้งความสนใจจากที่ตั้งแล้วหันกลับไปดูประวัติของวัด จะทราบว่าเป็นวัดในสมัยเวียงกุมกาม-เชียงใหม่ หรืออยู่ในพื้นที่เวียงกุมกามนั่นแหละ
วัดพระนอนหนองผึ้ง มีสภาพเป็นวัดที่ตั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย เช่นเดียวกับหลายๆ วัดในเขตเวียงกุมกาม โดยเฉพาะวัดที่พบหลักฐานโบราณวัตถุประเภทพระพิมพ์แบบต่างๆ ภายในเขตบริเวณวัดนี้ ได้รับการดูแลซ่อมเสริมกันเรื่อยมาดัง เช่น องค์พระบรมธาตุเจดีย์ และอาคารประกอบแวดล้อมอื่นๆ อันเป็นผลงานการซ่อมสร้างเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะอย่ายิ่งแล้ว องค์พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ ถือเป็นหลักฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของเวียงกุมกาม ที่ปรากฏหลักฐานเหลืออยู่เพียงองค์เดียวและเรียกขานกันในท้องถิ่นว่า พระนอนป้านปิง อันมีความหมายโดยนัยว่าเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่สร้างขวางต้านลำแม่น้ำปิงในอดีต (ปิงห่าง-ที่ไหลผ่านมาหน้าวัดทางด้านตะวันออก ตามแนวถนนต้นยาง) เพื่อป้องกันน้ำไหลบ่าเข้ามาท่วมชุมชน (เสียดายที่ทางไมได้เก็บภาพองค์พระนอนมาด้วย เนื่องจากไปตอนเย็น)
สิ่งที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้ นอกจากองค์พระนอนแล้ว ก็จะมีพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระนอนหนองผึ้ง ตั้งอยู่ระหว่างวิหารพระนอน และอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดเล็กทรงระฆังที่ได้รับการซ่อมปฏิสังขรณ์เมื่อไม่นานมานี้ ส่วนฐานเป็นแบบเขียงตอนล่าง เหนือขึ้นมาเป็นชั้นปัทม์ย่อเก็จรองรับส่วนมาลัยเถาแบบย่อเก็จแปลง องค์ระฆังขนาดเล็กค่อนข้างใหญ่ ไม่มีส่วนบัลลังก์ ปล้องไฉนทรงกรวยคว่ำแต่ละปล้องต้องมีขนาดใหญ่ ต่อเหนือขึ้นไปด้วยชั้นบัวกลุ่มแบบพม่า และส่วนปลียอดประดับฉัตรโลหะ
อุโบสถ วัดพระนอนหนองผึ้ง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาหน้าจั่วมีปีกนก 2 ข้างสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านหน้ามีสิงห์ปูนปั้นอยู่ 1 คู่ ส่วนซุ้มโขงประตูทางเข้าปรากฏลวดลายปูนปั้นในศิลปะพม่า ที่ได้รับการซ่อมแซมบูรณะในระยะเวลาใกล้เคียงกับสิ่งก่อสร้าง ที่มีอิทธิพลพม่าระยะรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ดังเช่นที่พบในสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดช้างค้ำ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดศรีบุญเรือง วัดสันป่าเลียง และวัดเสาหิน
วิหาร วัดพระนอนหนองผึ้ง ตั้งห่างออกไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างหันหน้าไปทางตะวันออก มีรูปทรงโครงสร้างอิทธิพลศิลปะจากภาคกลาง ที่มีส่วนจั่วหลังคาฐานกว้าง ทำตัวบันไดรูปมกรคายนาคปูนปั้นปิดทองและเขียนสี คล้ายกับที่พบในเขตเมืองเชียงใหม่ทั่วๆไป มีตัวอย่างสวยงามที่เป็นนาคบันไดของวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวง (สร้างขึ้นใหม่ในสมัยเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ เมื่อราว 100 กว่าปีที่ผ่านมา)
วิหารพระนอน วัดพระนอนหนองผึ้ง เป็นที่ประดิษฐานพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ ที่หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออกเป็นอาคารหลักของวัด
จากอดีตถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าวัดพระนอนหนองผึ้ง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของนครเชียงใหม่ มีคนมานมัสการสักการะกราบไหว้และดูศิลปะในด้านประติมากรรมในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ใครมีโอกาสลองแวะมากราบไหว้กันได้ครับกระผม