“วัดพันเตา” กับพระวิหารหอคำหลวงที่สวยที่สุดในเชียงใหม่

DSCF2319

ทุกครั้งเวลาที่ผมไปเดินเล่นที่วัดเจดีย์หลวง หรือพาเพื่อนๆ มาเที่ยว หนึ่งเรื่องที่ทำเป็นประจำและไม่ค่อยลืม คือการเลยเถิดเดินไปเที่ยวที่วัดพันเตาด้วยเป็นควบคู่

ด้วยพิกัดของวัดที่อยู่ใกล้กัน ฉะนั้นแล้วการทำตัวเฉยชาไม่สนใจไยดี ทั้งๆ ที่มีอะไรหลายอย่างให้ได้เยี่ยมชม คงเป็นความผิดในระดับปล้นธนาคารเอาเงินล้านไปใช้ฟรีๆ

วัดพันเตาเดิมเป็นพื้นที่ในเขตวัดเจดีย์หลวง โดยเป็นเขตสังฆาวาส รวมทั้งเป็นพื้นที่ตั้งเตาหลอม ในการหล่อพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในวัดเจดีย์หลวงแต่โบราณ ต่อมาภายหลังได้สร้างเป็นวัดพันเตา โดยอยู่ในยุคใกล้เคียงกับวัดเจดีย์หลวง ซึ่งในรัชสมัย พระเจ้าอินทวิชยานนท์ (องค์ที่ 7) ปี พ.ศ. 2418 ได้มีพระราชศรัทธาในการสร้างพระวิหารโดยการรื้อหอคำ (ที่ประทับ) ของพระเจ้ามโหตรประเทศ (องค์ที่ 5) ซึ่งเป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง ถวายให้แก่วัดพันเตา เพื่อเป็นพระวิหารหอคำหลวง

DSCF2337

และแน่นอน ไฮไลต์สำคัญของวัดพันเตา ที่นักท่องเที่ยวชื่นชมเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้น พระวิหารหอคำหลวง ที่สร้างจากไม้สักทั้งหลัง ที่มีความวิจิตรสวยงามยิ่งนัก

DSCF2320

พระวิหารหอคำหลวง เดิมเป็นหอคำโบราณ ที่มีสภาพสมบูรณ์และสวยงามที่สุดของเชียงใหม่ รายละเอียดวิจิตรงดงาม ด้วยงานจำหลักไม้ ตามแบบฝีมือช่างหลวง โครงสร้างสถาปัตยกรรมของวิหาร มีหน้าแหนบที่เป็นไม้แกะสลักที่สวยงาม มีลวดลายในโครงสามเหลี่ยม ตรงกลางแกะสลักรูปมอม ( มอม คือ พาหนะของเทพปัชชุนนะ เทพผู้บันดาลให้เกิดฝน) กรอบของซุ้มวิหารมีรูปวานรแบกตัวลวง 2 ตัว ทั้งสองข้าง ซึ้งตัวลวงนี้ใช้หางค้ำรูปแบบจำลองของประสาท ส่วนฐานของรูปซุ้มเป็นท่อนไม้ 8 เหลี่ยม สลักลวดลายประจำยาม ซึ่งทำปลายเสาทั้งสองข้างเป็นรูปหัวเม็ด มีหงส์ยืนประกอบทั้งสองข้าง ซึ่งสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทางช่างและภูมิปัญญา

DSCF2339

ตัวอาคาร ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก มีโครงสร้างแบบกรอบยึดมุมมาก เสาและฝาทุกส่วนเป็นไม้ โดยเฉพาะฝามีแบบวิธีการสร้างพิเศษคล้ายกับฝาปะกนของ ฝาไม้สมัยอยุธยา แต่มีขนาดตัวไม้ที่แน่นหนามั่นคงกว่า คือเป็นกรอบไม้ยึดยันรูปสี่เหลี่ยม อัดช่องภายในด้วยแผ่นไม้ลูกฟัก สัดส่วนใหญ่และหนากว่าฝาปะกน

DSCF2326

DSCF2331

ทั้งนี้ การทำฝาแบบทางเหนือนั้น จะใช้ตัวไม้โครงเป็นช่องตารางยึดติดกับช่วงโครงสร้างก่อน แล้วจึงบรรจุแผ่นลูกฟักภายหลัง ฝาแบบนี้แข็งแรงและมั่นคง เพราะต้องทำหน้าที่เป็นตัวรับน้ำหนักของส่วนบนอาคารด้วย ซึ่งวิหารนี้ฝาผนังด้านข้างจะยาวตลอดเป็นแนวเดียวกัน ไม่มีการย่อมุขหน้าวิหารทั้งๆ ที่เป็นวิหารขนาดใหญ่มาก

DSCF2319

จากนั้นถัดเข้ามาด้านในของพระวิหาร ภายในประดิษฐาน พระเจ้าปันเต้า พระพุทธรูปศิลปะล้านนา ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหาร พระพักตร์อิ่มเอิบเมตตา และใกล้ๆ กันนั้น ยังมีธรรมมาสน์โบราณ ที่สร้างคู่กับพระประธานในวิหาร ที่มีลักษณะจำลองมาจากประสารทสรวงสวรรค์

DSCF2328

ในฝั่งด้านหลังของพระวิหารหอคำหลวง มีเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานแปดเหลี่ยม มีเจดีย์รายล้อมอยู่โดยรอบ ซึ่งในช่วงที่ผมไปนั้นทางวัดกำลังทำการปฏิสังขรณ์บางส่วนให้เสร็จสมบูรณ์

DSCF2348

DSCF2349

สำหรับใครที่อยากแวะไปชมความงามของพระวิหารหอคำหลวง ก็เชิญกันได้เลยที่วัดพันเตา บนถนนพระปกเกล้า ในตัวอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ งานนี้รับรองว่าไปแล้วไม่มีเสียเที่ยวครับ เพราะพระวิหารหอคำหลวงงดงามจริงๆ