วัดสวนดอก

C360_2013-09-11-15-39-17-282

นอกจากวัดหลักๆ พวกไฟต์บังคับว่าต้องไปเที่ยวอย่าง วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วัดเจ็ดยอด ก็ยังมีอีกหนึ่งวัดที่คุณๆ ไม่ควรพลาดเช่นกันครับ วัดที่ผมว่านั้นก็คือ “วัดสวนดอก”

วัดสวนดอก ตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร  วัดแห่งนี้เป็นวัดที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย (อาณาจักรล้านนา) เป็นผู้ทรงสร้าง ซึ่งถือเป็นวัดมังรายที่สำคัญยิ่งในสมัยนั้น ที่สำคัญยิ่งในสมัยนั้น สาเหตุที่พระองค์ทรงสร้างเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งเพื่อเป็นสถานที่อยู่และปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ พร้อมกันนั้นก็เป็นที่พุทธศาสนิกชนได้ใช้เป็นสถานที่ทำบุญและประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของชาวพุทธอีกด้วย ซึ่งคาดว่าวัดสวนดอกได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.1962

C360_2013-09-11-15-21-52-805

ส่วนความเป็นมาของชื่อวัดนั้น พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ได้ทรงพระราชทานอุทยานสวนดอกไม้ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า บริเวณอุทยาน สวนดอกไม้นี้ เต็มไปด้วยต้นพะยอม หรือมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สวนดอกไม้พะยอม” เป็นที่สร้างวัด พร้อมกับ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดบุปผาราม” ซึ่งหมายถึง วัดแห่งสวนดอกไม้ ต่อมานิยมเรียกสั้นๆว่า “วัดสวนดอก”

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจในวัดสวนดอกก็มีดังนี้

C360_2013-09-11-15-38-10-149

C360_2013-09-11-15-36-02-651

พระบรมธาตุเจดีย์ สร้างสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เมื่อปี พ.ศ.1916 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระสุมนเถระนำมาจากกรุงสุโขทัย เป็นศิลปะลังกาวงศ์ผสมล้านนา ลักษณะฐานสี่เหลี่ยมมีทางขึ้น 4 ด้าน ชั้นกลางลักษณะระฆังคว่ำแบบเจดีย์ลังกา พระบรมเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระเจ้าค่าคิง เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง พระเจ้ากือนาธรรมิกราชโปรดให้ช่างสร้างขึ้นด้วยทองสำริด เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีขนาดเท่าพระวรกายของพระองค์ขณะประทับยืน หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร ข้อมูลจากประชุมตำนานล้านนากล่าวว่า สร้างขึ้นโดยบัญชาของพระราชมารดาของพระเจ้ากือนา เพื่อถวายไว้แทนพระเจ้ากือนา เมื่อครั้งทรงประชวรหนัก จึงเป็นเหตุหนึ่งของการเรียกพระนามของพระพุทธรูปที่สร้างแทนพระองค์ว่า “พระเจ้าค่าคิง”

C360_2013-09-11-15-17-41-836

พระเจ้าเก้าตื้อ พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ศิลปะแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.70 เมตร หล่อด้วยทองสำริด ซึ่งมีน้ำหนัก 9 ตื้อ สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ.2047 เพื่อเป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์ เมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชักลากเข้าเมืองได้ จึงได้ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

C360_2013-09-11-15-24-46-083

พระวิหารหลวง มีขนาดความกว้าง 12 วา 2 ศอกยาว 33 วาสร้างเมื่อพ.ศ.2474-2475 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีลักษณะพิเศษคือเป็นวิหารโถงไม่มีฝาผนังมีแต่ระเบียงโดยรอบหน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงามขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

กู่ครูบาเจ้าศรีวิชัย สถานที่บรรจุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ.2490 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก เมื่อพ.ศ. 2474-2475 และเพื่อเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป

C360_2013-09-11-15-39-37-672

กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ สถานที่บรรจุอัฐิ ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ถึงพระองค์สุดท้าย พระประยูรญาติ ในตระกูล ณ เชียงใหม่ และผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน เมื่อ พ.ศ.2452 ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

โดยในปี พ.ศ. 2451-2452 พระราชชายาดารารัศมีทรงพิจารณาเห็นว่า (กู่) อนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครและพระประยูรญาติทั้งหลายตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางทิศตะวันตก (ตลาดวโรรสแถวตรอกข่วงเมรุ) เป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากในฤดูฝน น้ำก็มักจะเข้าไปท่วมขังอยู่เป็นประจำ จึงย้ายมาตั้งไว้ที่วัดสวนดอกจนตราบทุกวันนี้

C360_2013-09-11-15-40-47-669

C360_2013-09-11-15-42-11-353

อนึ่ง ในวันที่ผมไปเก็บภาพบรรยากาศมา ทางวัดอยู่ในช่วงบูรณะปฏิสังขรณ์หลายๆ ทั้งพระวิหาร พระบรมธาตุเจดีย์ โดยคาดว่าปลายปีนี้น่าจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถึงตอนนั้นใครไปเที่ยววัดสวนดอก คงได้ยลโฉมความงามของวัดกันอย่างเต็มอิ่มแน่นอน

ปล.ภาพบางส่วนไม่สามารถถ่ายได้ เนื่องจากบางสถานที่อยู่ในระหว่างการบูรณะ