วัดสันกำแพงหลวง วัดที่เปรียบเสมือนวัดประจำอำเภอกลายๆ ของ อ.สันกำแพง ที่ตั้งอยู่หมู่ 5 ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 12 กิโลเมตรด้วยกัน
จากประวัติความเป็นมาของวัด เมื่อปี พ.ศ. 2330 ท้าวหาวท่าอิ เจ้าเมืองปูในเขตพม่าได้มาตั้งบ้านเรือน (บริเวณหน้าวัดสันกำแพงหลวงในปัจจุบัน) และได้สร้างวัดสันกำแพงขึ้น (เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด) ไม่มีศิลาจารึกไว้เป็นหลักฐาน อาศัยเจ้าอาวาส บูรณปฏิสังขรณ์ ตามหลักฐานที่ได้บันทึกไว้ เล่าสืบต่อๆ กันมา เมื่อปี พ.ศ.2396 ได้อาราธนา ครูบาเตชะ วัดห้วยยาบ อ.เมือง จ.ลำพูน มาเป็นเจ้าอาวาส และได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุที่มีอยู่เดิม เมื่อปฏิสังขรณ์ เรียบร้อยแล้ว ครูบาเตชะ ได้ตั้งชื่อวัดนี้ ตามสัญลักษณ์ของวัด คือ กำแพงหลวง คำว่า “หลวง” แปลว่า “ใหญ่” จึงใช้นามตามกำแพงว่า วัดสันกำแพงหลวง ซึ่งมีกำแพงสูง 8 ศอก กว้าง 4 ศอก
วัดสันกำแพงหลวง ถือเป็นวัดศูนย์กลางของอำเภอสันกำแพง เนื่องจากมีการพัฒนาวัดให้มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดมาดังเห็นได้จาก การได้รับพิจารณาจากกรมการศาสนาให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ได้รับพิจารณาให้วัดเป็นอุทยานการศึกษา จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น ได้เข้าร่วมโครงการเป็นวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 80 วัดทั่วไทย รวมทั้ง เข้าร่วมโครงการสนับสนุนวัดเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและชุมชน
ปัจจุบันวัดแห่งนี้ ใช้เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรม และเป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ต้นแบบ) ประจำตำบลสันกำแพง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเจ้าอาวาสปกครองมาแล้วทั้งสิ้น 11 รูป และรูปปัจจุบันคือ พระครูวินิจสุภาจาร มีตำแหน่งในทางสงฆ์ โดยเป็นเจ้าอาวาสวัดสันกำแพงหลวง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอแม่ออน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551
สำหรับศาสนสถานภายในวัด มีวิหารทรงล้านนา ออกแบบแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับโครงสร้างไม้ หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในวิหารมีภาพวาด ที่เกี่ยวกับคติความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา
ในส่วนบริเวณด้านหลังวิหารมีเจดีย์สีทองรูปทรงคล้ายกับพระธาตุดอยสุเทพ แต่ไม่ใช่ทองจังโก้ บริเวณฝั่งด้านขวามือขององค์เจดีย์ มีหอไตร สำหรับไว้เก็บคัมภีร์ต่างๆ ตัวอาคารสร้างให้มีมุขยื่นออกจากตัวอาคาร ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และฝั่งติดกำแพง เป็นที่ตั้งของอุโบสถ อาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งการทำสังฆกรรมที่สำคัญที่สุด ก็ได้แก่การทำสังฆกรรม บวช โดยในวัฒนธรรมล้านนา แบบอย่างของวิหารและโบสถ์มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่โบสถ์จะมีใบสีมา เป็นเครื่องหมายเขตบริสุทธิ์ล้อมรอบ อาคารที่เป็นตัวโบสถ์อีกชั้นหนึ่ง
และทั้งหมดนั้น คือ เรื่องราวของวัดสันกำแพงหลวงครับ