วัดหนองคำ

C360_2013-11-10-12-49-09-619

ผมตามมาเที่ยววัดนี้ เพราะขบวนกฐินในช่วงบ่ายของวันนึงครับ

ตามประสาของคนต่างถิ่นต่างภาค การได้เห็นวัฒนธรรมชาวบ้านแบบอื่นที่ไม่เคยเจอย่อมเป็นเรื่องพิเศษ  ซึ่งอารมณ์ของผมตอนนั้น ก็คงไม่ต่างจากฝรั่งซักเท่าไหร่ ที่พากันยืนที่กล้องรัวชัตเตอร์เป็นว่าเล่น

เสียงครึกครื้นของขบวนแห่ทั้งหนุ่มสาว และคนแก่ ต่างมุ่งหน้าไปยังวัด จากปากถนนช้างม่อย ช่วงระยะเวลา 15 นาทีก็เป็นอันถึงที่หมาย

C360_2013-11-10-11-44-50-213

C360_2013-11-10-12-58-58-386

เศษประทัดที่โดนจุดอยู่ด้านหน้าเกลื่อนกลาด ชาวบ้านมากหน้าหลายตา ต่างพร้อมใจกันมาทำบุญ ส่วนผมก็ได้เวลาสำรวจว่าด้านในนั้นว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

C360_2013-11-10-12-58-39-121

วัดหนองคำ นับเป็นวัดที่มีความเก่าแก่และสวยงามวัดหนึ่งของภาคเหนือครับ ตามประวัติบอกไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2380 โดยคณะศรัทธาสามัคคีหลายท่าน ซึ่งมีชาวปะโอ (ต่องสู้) ตลอดถึงคณะศรัทธาพี่น้องชาวเชียงใหม่ ที่เป็นพ่อค้าไม้ ได้พร้อมใจกันขายช้าง 7 เชือก ได้จัดหาซื้อที่ดินเพื่อที่จะสร้างวัด ถวายไว้ในพระพุทธศาสนาให้เป็นมรดกอันล้ำค่า โดยศาสนสถานภายในวัดก็มีกันดังต่อไปนี้

C360_2013-11-10-12-49-09-619

พระอุโบสถ กว้าง 10 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2445 เป็นอาคารคอนกรีต ก่ออิฐถือปูนรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมชาวปะโอ (ต่องสู้) ไม่มีช่องฟ้า ใบระกา หางหงส์ อันผิดแผกแปลกจากสถาปัตยกรรมไทยอย่างเด่นชัด แต่เดิมนั้นมียอดสูงขึ้นประมาณ 5 ชั้น ได้ชำรุดเสียหายและรือไปเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว ด้านนอกผนังทั้งสี่ด้าน มีภาพจิตรกรรมศิลปะชาวปะโอสวยงามมาก ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ องค์ที่เป็นพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์ใหญ่ นั่งขัดสมาธิเพชรหงายฝ่าพระบาททั้งสองข้างพระวรกายสีขาว พระหัตถ์ซ้ายขวางพัดหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุด้านขวา หน้าตักกว้าง 1.5 เมตร สูง 2.5 เมตร ศิลปะชาวเขาเผ่าปะโอ

C360_2013-11-10-12-56-25-804

C360_2013-11-10-12-48-54-767

พระธาตุเจดีย์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2389 สูงประมาณ 21 เมตร กว้าง 9.50 เมตร เป็นศิลปะเผ่าปะโอผสมล้านนา ลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยม ชั้นบนเป็นรูประฆังคว่ำบัวหงาย ชั้นกลางภายในทำเป็นห้องโถงใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก ส่วนประกอบอื่นๆ ของพระเจดีย์ มีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ด้านตะวันออกมีบันไดขึ้นไปถึงห้องที่เก็บรักษาพระไตรปิฏก ส่วนมุมพระเจดีย์ทั้งสี่ประดิษฐานรูปปั้นสิงห์ การสร้างเจดีย์นี้ใช้ช่างฝีมือชาวปะโอและชาวไต

C360_2013-11-10-12-51-06-035

ศาลาหอฉัน กว้าง 16 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2387 เป็นอาคารทรงปะโอ ก่ออิฐถือปูน ด้านในประดิษฐานพระประธานหนึ่งองค์ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์ใหญ่ นั่งขัดสมาธิเพชรหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุด้านขวา หน้าตักว้าง 2.50 เมตร สูง 3 เมตร เป็นศิลปะชาวเขาเผ่าปะโอ

C360_2013-11-10-12-50-16-430

พระวิหารหลังใหญ่ กว้าง 21 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2460 เป็นสถาปัตยกรรมครึ่งตึกครึ่งไม้ ด้านล่างก่ออิฐถือปูน จนถึงผนังด้านนอกของชั้นบน ด้านในเป็นอาคารไม้แต่ขณะนั้นยังสร้างไม่เสร็จก็ต้องหยุดไป ต่อมาในปี พ.ศ.2470 ทางคณะอุบาสก อุบาสิกาของวัด จึงร่วมแรงร่วมใจกัน ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารหลังนี้อีก จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

พระวิหารหลังใหญ่นี้ เป็นตึกที่สวยงาม มีศิลปะแบบปะโอ ครึ่งโล่งครึ่งเป็นที่อาศัย เป็นตึกสองชั้น ชั้นบนแบ่งเป็นห้องๆ ใช้เป็นที่พักของพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ส่วนที่โล่งหรือห้องโถงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม หรือกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ชั้นล่างใช้เป็นที่เก็บของและอื่นๆ ส่วนบนเพดานและตามฝาผนังด้านบน มีภาพจิตรกรรมที่สวยสดงดงามมาก เป็นภาพจิตรกรรมแบบศิลปะ “ปะโอ”

นอกจากนั้นยังประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์ใหญ่ นั่งขัดสมาธิเพชรหงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระวรกายสีขาว พระหัตถ์ซ้ายวางพาดหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุด้านขวา หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.50 เมตร ศิลปะ “ปะโอ” และมีพระพุทธรูปองค์ต่างๆ เช่น พระพุทธรูปไม้แกะสลักศิลปะปะโอ และพระพุทธรูปปั้นศิลปะปะโอ

C360_2013-11-10-12-55-01-799

ถือได้ว่าใครมาเที่ยววัดแห่งนี้ จะได้สัมผัสกับบรรยากาศศิลปะแบบ “ปะโอ” อันสวยงามอย่างครบถ้วน ที่แปลกตา และหาดูไม่ได้ง่ายๆ ในเมืองเชียงใหม่ครับ

ปล.ชาวปะโอแดง หรือต่องสู่ เดิมอาศัยอยู่ในแถบเมืองปั่น ป๋างปี้ หนองอ้อ กิ่วเกาะ ในเขตรัฐฉานของพม่า ก่อนทำการอพยพเข้ามาอยู่ในเขตตำบลนาปู่ป้อม ตำบลปางมะผ้า ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และส่วนอื่นๆ ของภาคเหนือ ส่วนข้อมูลตามไปหาอ่านเพิ่มใน Google ได้นะจ๊ะ