แม้จะลำบากซักเพียงใด สุดท้ายผมก็พาตัวเองผ่าฝนมายังวัดอินทรารามจนได้สำเร็จ ฮ่าๆๆ และการผ่าฝนมาครั้งนี้ก็คุ้มค่าพอสมควร เนื่องจากวัดแห่งนี้มีความสวยงาม แถมยังมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ด้วย
วัดอินทราราม เดิมชื่อว่าวัดขี้เหล็กหลวง แต่ตามตำนานเรียกวัดขี้เหล็กร่มหลวง เป็นวัดในชุมชนไทเขินที่อพยพมาจากเชียงตุง วัดนี้เดิมตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงตะวันตก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณที่ตั้งวัดปัจจุบัน มีระยะห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันประมาณ 500 เมตร ซึ่งวัดเดิมถูกน้ำเซาะตลิ่งพังจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ ณ ที่นี้
วัดนี้แต่เดิมสร้างโดยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงค์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 (พ.ศ. 2399-2413) ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าอินทรวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ทรงสร้างวิหารที่มีเครื่องประกอบอาคารโดยใช้ไม้สัก เสาไม้สักขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร สูง 10 เมตร ลงรักปิดทองด้วยลวดลายไทยล้านนาวิจิตรงดงาม สร้างเสร็จแล้วได้ขนานนามว่า “วัดขี้เหล็กหลวง”
พอในปี พ.ศ. 2443 วัดได้ถูกน้ำเซาะพังทลายลงเกินความสามารถที่จะรักษาไว้ได้ คณะศรัทธาชาวบ้านจึงได้รื้อเก็บเครื่องประกอบวิหารไว้ได้ทั้งหมด และขนย้ายมาก่อสร้างในที่วัดปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2444 การก่อสร้างใช้อุปกรณ์เดิมแทบทั้งหมด ฝาผนังก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และใช้ชื่อของวัดเดิมคือ วัดขี้เหล็กหลวง พร้อมกันนี้ชาวบ้านได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากฐานชุกชีของวัดเดิม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1 เมตร มาประดิษฐานไว้ในวิหารหลังใหม่
และต่อมาในปี พ.ศ. 2470 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จนิวัติกลับเชียงใหม่ ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์บูรณะปฏิสังขรณ์วัดขี้เหล็กหลวงและทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 400 รูปี สร้างกุฎิสงฆ์ขึ้นมาหนึ่งหลัง ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 14 เมตร เป็นอาคารปูนครึ่งไม้ เครื่องประกอบเป็นไม้สัก หลังคากระเบื้องดินเผา โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงโปรดให้ตั้งพลับพลาที่ประทับหน้าวัดด้านทิศตะวันออก ทรงเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ และและทรงโปรดให้จัดงานปอยหลวงฉลองสมโภชมอบถวายเสนาสนะแด่พระรัตนตรัยโดยพระองค์ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานร่วมตลอดงาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 กุฏิสงฆ์หลังดังกล่าวได้ชำรุดทรุดโทรมลง คณะศรัทธาชาวบ้านจึงได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยที่โครงสร้างของกุฏิสงฆ์ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนชั้นบนเป็นไม้ซึ่งยังคงใช้วัสดุอุปกรณ์เดิมส่วนหลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้
ในปี พ.ศ. 2486 ทางกรมการศาสนาได้เปลี่ยนแปลงชื่อวัดเพื่อความเหมาะสม โดยที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาชาวบ้านได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ และพระราชชายาเจ้าดารารัศมีพระราชธิดาที่ทรงอุปถัมภ์วัดเสมอมา จึงใช้พระนามของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์เป็นชื่อของวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณให้สืบต่อไปชั่วกาลนาน จากวัดขี้เหล็กหลวง จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น” วัดอินทราราม” จนถึงปัจจุบัน
หลังจากนั้นเป็นต้นมา วัดอินทรารามก็มีหลายเหตุการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. 2542 จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดสร้างป้ายวัดในประวัติศาสตร์ของนครเชียงใหม่ ณ วัดอินทราราม เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา
ในปี พ.ศ. 2547 วัดอินทรารามได้รับพระเมตตาจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัลยาสิริวัฒนาพรรณวดี ทรงประทานพระพุทธไตรรัตนโลกนาถ “หลวงพ่อองค์ใหญ่” พระพุทธรูปประจำพระชนมวารในพระองค์ มาประดิษฐาน ณ วิหารวัดอินทราราม
ในปี พ.ศ. 2548 วัดอินทรารามได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารขึ้นใหม่เกือบทั้งหลัง โดยยังคงใช้เสาและโครงสร้างเดิม เพียงแต่ได้ทำการรื้อหลังคาวิหาร เปลี่ยนช่อฟ้า ใบระกา และได้สร้างขึ้นใหม่ โดยสร้างฉัตรไว้ตรงกลาง ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม พร้อมกับกะเทาะฐานล่างของวิหารซึ่งแต่เดิมฉาบด้วยปูนขาว โดยได้ฉาบด้วยปูนซีเมนต์แทนเพื่อให้ฐานมีความแข็งแรงกว่าเดิม ประตูและหน้าต่างไม้สักโบราณก็ได้ประกอบด้วยไม้จำหลักที่มีความวิจิตรงดงามขึ้นใหม่ พื้นวิหารก็ได้ปูด้วยกระเบื้องลายน้ำทะเล พร้อมกันนี้ก็ได้สร้างราวบันไดทางขึ้น โดยเป็นศิลปะแบบหางวาฬ ตามสมัยนิยม และได้สร้างซุ้มประตูขึ้นใหม่ให้มีความวิจิตรงดงาม พร้อมกับทาสีใหม่ทั้งหลัง โดยได้มีการเฉลิมฉลอง (ปอยหลวง ) เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เมื่อวันที่ 17-19 เดือนมีนาคม พ.ศ.2549
วัดอินทราราม ถือเป็นอีกหนึ่งวัดที่น่าสนใจ ในตัวอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กันครับ