อีกหนึ่งวัดสำคัญระดับห้ามพลาด สำหรับคนเกิดปีมะเส็ง เพราะวัดแห่งนี้มีพระเจดีย์เจ็ดยอด พระธาตุประจำปีเกิดของคนปีมะเส็ง วางตัวอยู่นั้นเอง…
วัดเจ็ดยอดแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ ถนนเจ็ดยอด ตำบลช้างเผือก ในตัวอำเภอเมืองครับ วัดแห่งนี้มีอีกหนึ่งชื่อ คือ วัดโพธารามมหาวิหาร แต่ส่วนใหญ่คนก็จะชอบเรียกว่าวัดเจ็ดยอดนั่นแหละ เพราะสั้นๆ เรียกง่ายดี
วัดเจ็ดยอด เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่มาแต่โบราณ สร้างขึ้นสมัย พระเจ้าติโลกราช แห่งราชวงศ์มังราย โดยโปรดฯ ให้หมื่นด้ามพร้าคด (สีหโคตรเสนาบดี) ดำเนินการสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1998 เพื่อเป็นพุทธสถานอันเป็นที่อยู่ของต้นศรีมหาโพธิ์ ด้วยพระราชศรัทธาต่ออานิสงฆ์ของการปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ อันเป็นที่มาของนามวัด รวมทั้งได้สร้าง สัตตมหาสถาน อันเป็นสถานที่จำลอง 7 แห่ง เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข ก่อนเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เมื่อครั้งสร้างเสร็จได้นิมนต์พระธรรมทินเจ้าอาวาสวัดป่าตาลเป็นประธาน และพระเถระผู้แตกฉานในพระทำวินัย ทำการสังคายนาพระไตรปิฏก เมื่อปี พ.ศ. 2020 ซึ่งเป็นครั้งที่แปดของโลก และเป็นครั้งแรกของไทย
วัดเจ็ดยอด เป็นวัดที่มีความโดดเด่นด้านศิลปกรรมที่สวยงามและสมบูรณ์ ศาสนสถานประดับประดาด้วยงานปูนปั้นชั้นเลิศ ซึ่งนับเป็นพุทธศิลป์แห่งยุค อีกทั้งยังเป็นที่จำพรรษาของพระรัตนปัญญามหาเถระ ผู้แต่งชินกาลมาลีปกรณ์ อีกด้วย
มาวัดแห่งนี้ แล้วหลายคนบอกว่ามีอะไรน่าสนใจ อ้าว…อย่ารอช้า ตามผมมา เดี๋ยวจะพาไปดูว่า ศาสนสถานและปูชนียวัตุภายในวัดเจ็ดยอด หลักๆ มีอะไรบ้าง
พระเจดีย์เจ็ดยอด เป็นเจดีย์ประธานยอดปรางค์แบบพุทธคยา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดยโปรดฯ ให้หมื่นด้ามพร้าคด (ผู้บูรณะวัดเจดีย์หลวง) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1998 เป็นพระเจดีย์รูปทรงคล้ายมหาโพธิเจดีย์ในพม่าและเจดีย์พุทธคยาในอินเดีย ฐานก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนหน้าเป็นมุขโถงประดิษฐานพระประธาน ผนังประดับปูนปั้นรูปเทวดาลวดลายวิจิตรบรรจง อันเป็นต้นแบบที่นำไปสร้างต่อที่หอไตรวัดพระสิงห์ ส่วนยอดเป็นพระเจดีย์ 7 องค์ คือแบบพุทธคยา 5 องค์ และแบบทรงระฆัง 2 องค์
พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช สร้างในสมัย พญายอดเชียงราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช เมื่อปี พ.ศ. 2030 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระเจ้าติโลกราช หลังจากถวายเพลิงพระศพภายในวัดเดยอด เป็นพระสถูปเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ทรงมณฑปสี่เหลี่ยมย่อเก็จ มีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ซุ้มจระนำด้านนอกทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
กู่ประดิษฐานพระแก่นจันทร์แดง ซึ่งแต่เดิมอยู่ภายในพระอุโบสถแบบโถง ที่สร้างในสมัย พระเมืองแก้ว เมื่อปี พ.ศ.2053 ซึ่งเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพพญายอดเชียงราย พระราชบิดา ภายหลังพระอุโบสถได้ชำรุดลงไป คงเหลือแต่กู่ทรงปราสาท ซึ่งเคยประดิษฐานพระแก่นจันทร์แดง ที่พระเมืองแก้วได้อัญเชิญมาจากเมืองพะเยา
และส่งท้ายด้วย สัตตมหาสถาน อันเป็นสถานที่จำลอง 7 แห่ง เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข ได้แก่ ปฐมโพธิบัลลังก์ (ต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงประทับและตรัสรู้), อนิมิสเจดีย์ (สถานที่พระพุทธองค์เสด็จประทับยืนทอดพระเนตรปฐมโพธิบัลลังก์ที่พระองค์ได้ตรัสรู้), รัตนฆรเจดีย์ (สถานที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก), มุจลินทเจดีย์ (สถานที่พระพุทธองค์เสด็จเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิก โดยมีพญานาคมุจลิน ปกป้องพระพุทธองค์จากสายฝน), รัตนจงกลมเจดีย์ (สถานที่พระพุทธองค์เสด็จจงกลม), อชปาลนิโครธเจดีย์ (สถานที่ประทับใต้ต้นไทรที่พระพุทธองค์ทรงชนะธิดาพญามาร) และราชาตนเจดีย์ (สถานที่พระพุทธองค์ทรงฉันผลสมอจากพระอินทร์ที่นำมาถวาย)
ใครเปิดปีมะเส็งรู้แล้วก็อย่ารอช้า มาเที่ยวเชียงใหม่ ยังไงก็ต้องแวะมาสักการะซักครั้ง…