วัดเจ็ดลิน

C360_2013-09-12-15-52-35-353

เท่าที่คลุกคลีทราบข้อมูลมาหลายๆ วัดในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องบอกเลยว่า แต่ละแห่งล้วนแต่มีสำคัญอันเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่มาแต่ในอดีตกันแทบทั้งสิ้น

หลักๆเลยล่ะ ต้องมีเอี่ยวในเรื่องของพระมหากษัตริย์ การปกครอง ประวัติศาสตร์เมือง ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของวิถีชาวบ้านในสมัยก่อน ความเชื่อ และพุทธศาสนา

C360_2013-09-12-15-41-32-289

อย่างกรณีของวัดเจ็ดลิน หรือวัดหนองลิน  ตรงถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ ในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่มีความสำคัญในอดีตอันเป็นสถานที่ในการทำพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษกพระมหากษัตริย์ ในสมัยราชวงศ์มังราย ก่อนขึ้นครองราชย์ โดยในปี พ.ศ. 2094 พระเมกุฏิวิสุทธิ์วงศ์ กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ได้ทรงชุดขาว ณ วัดผ้าขาว จากนั้นเสด็จไปสะเดาะเคราะห์ ณ วัดหมื่นตูม และเสด็จมาประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษกจากสุวรรณสังข์ ณ วัดเจ็ดลิน โดยมีรางน้ำทองคำ ที่เรียกว่า “ลิน” ซึ่งมีด้วยกัน เจ็ดราง อันเป็นที่มาของนามวัด โดยหลังเสร็จพิธีจึงเปลี่ยนเครื่องทรงกษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์กันต่อไป

C360_2013-09-12-15-53-14-673

C360_2013-09-12-15-42-11-751

วัดเจ็ดลิน ตามข้อมูลไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัดกันเท่าไหร่ มีเพียงแต่การกล่าวถึงวัดเจ็ดลินใน นิราศหริภุญชัย ที่แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2060 ซึ่งตรงกับสมัยพระเมืองแก้ว แห่งราชวงศ์มังราย  โดยภายหลังบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม วัดเจ็ดลินได้ถูกทิ้งร้างไปนานมาก จนต่อมาในปี พ.ศ. 2546 พระญาณสมโพธิ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ และคณะสงฆ์ ร่วมกับชาวบ้านได้ทำการบูรณะให้มีสภาพดังปัจจุบันอย่างที่เราๆ ท่านๆ เห็นเนี่ยแหละครับ

C360_2013-09-12-15-48-32-483

C360_2013-09-12-15-53-59-415

สำหรับศาสนสถานและปูชนียวัตถุวัดเจ็ดลินอันสำคัญ หลักๆ จะประกอบไปด้วย พระวิหารก่ออิฐถือปูนทรงล้านนา สร้างขึ้นในยุคฟื้นฟูวัด ด้านข้างมีมุข ประตูประดับด้วยไม้แกะสลักที่งดงาม ส่วนของหลังคาประดับด้วย ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ปูนปั้นที่ประณีต สันหลังคาประดับด้วยบราลีรูปหงส์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นประธาน

C360_2013-09-12-15-50-40-957

C360_2013-09-12-15-46-27-146

อย่างที่สองเป็นเจดีย์ประธานทรงมณฑป ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยม ชั้นบนเป็นฐานย่อเก็จ ประดับบัวลูกแก้วอกไก่ ลดหลั่นขึ้นไปถึงซุ้มจระนำ ที่มีอยู่สี่ด้าน ผนังประดับลวดลายปูนปั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมรับองค์ระฆังส่วนยอดประดับด้วยฉัตร

C360_2013-09-12-15-43-38-571

และสุดท้ายเป็นเศียรพระพุทธรูปโบราณ เดิมปรากฏอยู่ด้านหลังพระวิหาร จากสภาพถือได้ว่าเป็นเศียรพระพุทธรูปที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และที่หาชมยาก

C360_2013-09-12-15-43-23-758

อนึ่ง สำหรับในวันสงกรานต์ วัดเจ็ดลินได้มีพิธีก่อเจดีย์ทรายถวายวัด ที่เรียกว่า เจดีย์ทรายสุดส้าว ซึ่งถือเป็นเจดีย์ทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีการนำตุงไปปักที่เจดีย์ทราย เพื่อเป็นการบูชาแด่พระพุทธองค์