รอบตัวล้วนมีเรื่องให้เรียนรู้และหยุดมองเพื่อทำความเข้าใจ ขอแค่ใช้เวลาให้มันช้าลงอย่าเร่งรีบ
ฝ่าฝูงชนในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันมายัง อ. สันกำแพง เป้าหมายครั้งนี้ผมพาตัวเองมายัง วัดแช่ช้าง ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ วัดเนื้อที่ขนาดพอดี ที่ข้างๆ วัดมีตลาดวางตัวอยู่
ย้อนกลับไปในสมัยก่อน ชุมชนแช่ช้างได้มีพ่อค้าไม้นำไม้สักล่องซุงมาตามลำน้ำ ผ่ามาถึงหมู่บ้านหนึ่ง และมาหยุดอยู่ที่หมู่บ้านนี้ ได้นำช้างจำนวนมากมาชักลากไม้สักที่บริเวณดังกล่าว สองฝั่งลำน้ำ บริเวณนี้มีต้นไม้ ปลูกเรียงรายเต็มไปหมดสองฝั่ง ช้างที่ลากซุงได้นอนแช่น้ำ และมีต้นไม้ไผ่เป็นอาหารอย่างมีความสุข ชาวบ้านผ่านไปพบเห็นทุกวัน จึงได้ขนานนามเรียกว่า “แช่ช้าง” มาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งจะสังเกตได้เลยว่า บริเวณหน้าวัดจะมีรูปปั้นช้างยืนตระหง่านกันอยู่
เข้ามากันด้านในวัด จะพบกับวิหารรูปแบบล้านนา เป็นวิหารปิด ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง หรือฉลุลายปิดทองบริเวณผนังด้านหลังของพระประธาน ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ พื้นที่ของพระสงฆ์ พื้นที่ของฆราวาส และฐานชุกชี หรือแท่นแก้ว พื้นที่ด้านในสุดของวิหาร ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นประธานของวัด ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้)
ส่วนเจดีย์ของวัดแช่ช้างเป็นเจดีย์แบบล้านนา ที่รับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆเช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม
สุดท้าย อุโบสถ ตั้งอยู่ข้างๆ เจดีย์ เป็นอุโบสถหลังขนาดเล็ก อาคารที่พระสงฆ์ใช้ประชุมสังฆกรรมร่วมกัน ซึ่งการทำสังฆกรรมที่สำคัญที่สุด ได้แก่การทำสังฆกรรม บวช ในวัฒนธรรมล้านนา แบบอย่างของวิหารและโบสถ์มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่โบสถ์จะมีใบสีมา เป็นเครื่องหมายเขตบริสุทธิ์ล้อมรอบอาคารที่เป็นตัวโบสถ์อีกชั้นหนึ่ง โดยจะกำหนดบริเวณทิศทั้ง 8 และฝังไว้ตรงกลาง รวมทั้งหมด 9 แห่ง
และทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องเล่าที่เอามาฝากของวัดแช่ช้างกันครับ