หลุดจากออบขานมาที่ดูเป็นหน้าผามีน้ำไหลผ่านตรงซอกหิน เดินมาตามทางเดินเท้าซักหน่อย แล้ววกลงมาตรงลำธาร เราก็จะเจอผาอกม้ากันครับ
ผาอกม้า มีลักษณะเป็นลานหินกว้างอยู่ริมฝั่งน้ำแม่ขาน มีโขดหินน้อยใหญ่มากมายอยู่กลางลำน้ำ อีกฝั่งเป็นหน้าผาเตี้ยๆ เหมาะสำหรับการนั่งพักผ่อนและลงเล่นน้ำ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะพบได้เฉพาะในฤดูแล้งที่ระดับน้ำลดต่ำลงเท่านั้น ซึ่งใครต้องการชมความงามของโขดหินและลานหินที่ซ่อนตัวอยู่โต้ผืนน้ำตลอดฤดูน้ำหลาก จึงควรเข้ามาเที่ยวชมในฤดูแล้งส่วนฤดูหนาวแบบนี้ ก็มีให้ชมกันครับ แถมอากาศดีอีกต่างหาก
พูดถึงเรื่องภูมิอากาศแล้ว โดยทั่วไปอุทยานแห่งชาติออบขาน ค่อนข้างจะร้อนในฤดูร้อนกันครับ อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว และมีฝนตกชุก เป็นช่วงระยะสั้นๆ ในฤดูฝน
ไหนๆ พูดถึงเรื่องภูมิอากาศแล้ว ขอต่อด้วยเรื่องภูมิประเทศก็แล้วกัน สภาพภูมิประเทศที่นี้ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง-ต่ำสลับซับซ้อน สภาพป่ามีหลายประเภท ประกอบด้วย ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ในบริเวณพื้นที่ที่มีระดับความสูงประมาณ 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป จะเป็นป่าดิบเขา และป่าสนเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กระบก กระบาก ยมหอม แดงน้ำ สมพง ยาง ก่อ จำปีป่า ทะโล้ อบเชย กำยวน สนสองใบ สนสามใบ สัก เต็ง รัง พลวง ประดู่ มะค่าโมง ยางนา ตะแบก ตะคร้อ ตีนนก สมอไทย และไผ่ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังพบพันธุ์พืชหายาก เช่น กล้วยไม้รองเท้านารี
สัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ เลียงผา เก้ง หมีขอ หมีควาย เสือปลา เสือไฟ กระจง อีเห็น กระต่ายป่า หมูป่า ชะนี ลิง นางอาย พังพอน เม่น หมาจิ้งจอก กระรอก กระแต หนูต่างๆ ตะพาบน้ำ เต่าปูลู ไก่ฟ้า และนกชนิดต่างๆ จำนวนมาก เป็นต้น
เอาล่ะ หลังจากชมความงามของผาอกม้ากันไปแล้ว พร้อมเสริมข้อมูลด้วยเรื่องภูมิอากาศภูมิประเทศหน่อย ภารกิจเบื้องหน้าเรายังมีหลงเหลือนะครับ และดูเหมือนว่าที่แห่งนี้ยังมีมุมสวยๆ ของธรรมชาติให้ได้ชมกันเยอะ เพราะเท่าที่ดูจากเบื้องหน้าที่จะเดินทางต่อไป ขอบอกเลยว่าผมยิ้มปากฉีกกันสุดๆ
ธรรมชาติบ้าอะไรสวยขนาดนี้ ดีแล้วที่ไม่เสียแรงเลือกมาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถ้าเกิดผมเลือกไปอยู่จังหวัดอื่นๆ คงไม่มีโอกาสได้มาเห็นได้มาเที่ยวกันแบบนี้ คือทั้งชาติอาจไม่ได้มาเลยด้วยซ้ำ ฮ่าๆๆ
แล้วมาต่อกันตอนที่ 4 ครับ กับการมุ่งหน้าสู่ออบไฮ พระรองของออบขาน ที่สวยงามไม่แพ้กัน รวมทั้งเรื่องเหล้า เอ้ย เรื่องเล่าอื่นๆ อีกเยอะแยะ