ในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” นั้น พระเจ้ากาวิละได้ทำการกวาดต้อนหัวเมืองต่างๆ โดยชาวเมืองที่มาจากแต่ละพื้นที่ ก็มีช่างฝีมือดีเยอะแยะ มาช่วยกันสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองเชียงใหม่ และหนึ่งช่างฝีมือดีที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ช่างเครื่องเงินชุมชนวัวลาย กันครับ
เท้าความกลับไปกว่า 200 ปี ในยุคที่พระเจ้ากาวิละ ริเริ่มสร้างเชียงใหม่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเป็นอิสระจากการปกครองของพม่า คราวนั้นพระเจ้ากาวิละได้อพยพชาวเมืองปุ เมืองงัวลาย และชาวเมืองคง แถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน (พม่าปัจจุบัน) ซึ่งเป็นชุมชนช่างฝีมือเครื่องเงิน ในระหว่างปี พ.ศ.2342 – 2347 มาอาศัยอยู่รอบกำแพงเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะตั้งชื่อชุมชนแห่งใหม่นี้ว่า “วัวลาย” ตามเมืองเดิมที่จากมา เพื่อรำลึกถึงรากเหง้าของชุมชน โดยมีวัดหมื่นสาร และวัดศรีสุพรรณ เป็นศูนย์กลางของชุมชนย่านวัวลาย
จากอดีตจวบถึงปัจจุบัน ย่านวัวลายยังคงเป็นชุมชนการผลิตเครื่องเงิน แนวประเพณีที่สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ แม้ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องเงินจะได้ขยายไปสู่อำเภอสันทราย หางดง และจังหวัดอื่นๆ บ้างแล้ว
สำหรับประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องเงินของชุมชนย่านวัวลายนั้น แต่เดิมเกิดจากการผลิตเพื่อการใช้งานในครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของบ้านวัวลายมากว่า 400 ปี ไม่ว่าจะเป็น ขันน้ำ สลุง พาน ถาด ขันใส่หมาก (เชี่ยนหมาก) เป็นต้น จากนั้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาจึงได้ริเริ่มผลิตเครื่องประดับ ได้แก่ สร้อยคอ แหวน กำไล ปิ่น หรือเข็มขัด ฯลฯ เป็นต้น เพื่อตอบสนองลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มสินค้าประเภท ของฝากของที่ระลึก ได้แก่ กรอบรูป แผ่นภาพดุนลาย พวงกุญแจ ที่คั่นหนังสือ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน และเมื่อได้ทำการจำแนกแล้ว ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบดังนี้
1. ของใช้ในครัวเรือน ของใช้ในครัวเรือนส่วนใหญ่ปัจจุบันนิยมผลิตจากเนื้อเงินเป็นหลัก แต่อาจจะมีขนาดแตกต่างกันไปตามน้ำหนักและปริมาณของเนื้อเงิน ของใช้ในครัวเรือนที่ยังผลิตอยู่ในปัจจุบันคือ สลุง (ขัน) พาน ถาด ขันใส่หมาก (เชี่ยนหมาก) กระเป๋าถือ ที่วางแก้วน้ำ ปิ่นโต และเชิงเทียน เป็นต้น
2. เครื่องประดับ ซึ่งได้แก่ เครื่องประดับเงินล้วนที่ไม่สลักลวดลายต่างๆ หรือสลักลวดลายต่างๆ และเครื่องประดับเงินตกแต่งด้วยพลอย/อัญมณี หรือวัสดุอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาจจะทำเป็นชุดเครื่องประดับ (Collection) ประกอบด้วย สร้อยคอ แหวน ตุ้มหู หรือ กำไล เป็นต้น หรือแยกจำหน่ายเฉพาะก็ได้
3. ของที่ระลึก และของใช้ตกแต่งบ้าน สินค้าประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่ ดังนั้นการผลิตจะต้องใช้วัตถุดิบที่มีน้ำหนักไม่มาก ช่างฝีมือสามารถผลิตและออกแบบได้ตามลวดลายที่มีอยู่โดยทั่วไป สินค้าประเภทนี้ได้แก่ กรอบรูป แผ่นภาพตกแต่งฝาผนัง พวงกุญแจ ที่คั่นหนังสือ ลวดลายประดับ เป็นต้น
ส่วนใครที่สนใจอยากได้เครื่องเงินจากวัวลายในแบบต่างๆ ก็ลองแวะไปหาดูได้แถวย่านถนนวัวลาย ในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้ครับ ซึ่งย่านนั้นก็มีหลากหลายร้านด้วยกันให้ได้เลือกชม เอาเป็นว่าลองหาดูหลายๆ ร้าน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการซื้อสินค้า ถ้าร้านไหนรัก ถ้าร้านไหนชอบ ถูกใจ ก็ควักเงินซื้อกันให้ไวโลด